บอร์ดรถไฟเคาะ “นภาก่อสร้าง” ลุยไฮสปีดไทยจีนช่วง “โคกกรวด-โคราช” มูลค่า 7.7 พันล้าน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 16 ก.ค.2563 ที่ประชุมคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. (บอร์ดรถไฟ) มีมติเห็นชอบงานโยธาในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กรุงเทพ – นครราชสีมา สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ที่มีบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 7,750 ล้านบาท  หลังจากที่ประชุมมีข้อสงสัยถึงคุณสมบัติของผู้ได้รับการคัดเลือกและได้สอบถามข้อมูลไปที่กรมบัญชีกลางจนได้รับความกระจ่างแล้ว จึงได้เห็นชอบผลการประมูลสัญญานี้ในทีสุด

ทำให้ขณะนี้งานโยธาทั้ง 14 สัญญา เหลือเพียง 2 สัญญาที่อยู่ในกระบวนการ คือ งานสัญญาที่ 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 7,664.629 ล้านบาท มีบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดอยู่ที่ 6,514.4 ล้านบาทต่ำกว่าราคากลางประมาณ 15% หรือลดลงไป 1,149.6 ล้านบาท 

และสัญญาช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงินราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ระหว่างออกแบบแนวเส้นทางร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ด้านงานสัญญา 2.3 สัญญาวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ วงเงิน 50,633.50 ล้านบาท กำลังเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา หลังจากนั้นก็จะกำหนดจัดพิธีลงนามในสัญญาในประเทศไทยในช่วงเดือน ต.ค.นี้ และจะเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีด้วย

ส่วนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงบางซื่อ-ชุมทางบ้านภาชี ที่ยังไม่ผ่านการพิจารณา เบื้องต้น ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กรมศิลปากรแล้ว กำลังรอท่าทีของกรมศิลปากร 

Advertisment

ขณะที่ช่วงชุมทางบ้านภาชี – นครราชสีมาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คชก.) แล้วนั้น อยู่ระหว่างรอเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะทยอยลงนามในสัญญาก่อสร้างให้ได้ทั้งหมดภายในปีนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ปรับแก้แผนพัฒนาที่ดินย่านสถานีธนบุรีประมาณ 21 ไร่ ใกล้สถานีรถไฟบางกอกน้อยและโรงพยาบาลศิริราช โดยให้คิดเพิ่มเติมจากที่จะพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพ (Health&Wellness Hub) เพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มากกว่านี้ 

เพราะร.ฟ.ท.ไม่ใช่ดีเวล็อปเปอร์ จึงต้องการที่จะเห็นรูปแบบโครงการที่มากกว่านี้ และให้เปรียบเทียบรูปแบบการลงทุน 3 แบบ ได้แก่ ร.ฟ.ท.ลงทุนเอง, เอกชนร่วมลงทุน (PPP) และเปิดให้เช่าโดยใช้ระเบียบของร.ฟ.ท.ว่าแบบไหนคุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ มีการรายงานว่า อุปสรรคด้านการก่อสร้างที่จะกระทบกับสถานีรถไฟบางกอกน้อย ซี่งเป็นโบราณสถาน พบว่าไม่มีแล้ว