บีทีเอส ยื่นหนังสือบอร์ด รฟม. ค้านรื้อเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

จับตาบอร์ด รฟม. รับไม่รับข้อเสนอ “บีทีเอส” ยื่นหนังสือค้าน รฟม. เปลี่ยน TOR นำเทคนิคพิจารณารวมกับราคา ชี้ขาดผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ”บางขุนนนท์-มีนบุรี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 28 ส.ค. 2563 มีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน ซึ่งวันนี้มีวาระเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่าโครงการ 1.4 แสนล้านบาท ให้บอร์ดรับทราบด้วย

หลัง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ยื่นหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ถึงการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนว่าโครงการมีความเสี่ยงสูง จึงไม่ควรพิจารณาข้อเสนอการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวมที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

ต่อมาวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 ได้นำมาพิจารณา เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีและเป็นประโยชน์กับรัฐมากสุด

ทั้งนี้มีผู้แทนจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ยื่นหนังสือต่อบอร์ดเพื่อคัดค้านการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลผลผู้ชนะประมูลโครงการ หลังคณะกรรมการมาตรา 36 ปรับเกณฑ์การพิจารณาใหม่ให้นำคะแนนเทคนิค 30 คะแนนมารวมกับซองข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทนอีก 70 คะแนน ด้วย

โดยทาง BTSC ขอให้ รฟม.ยึดตามหลักเกณฑ์เดิม ให้พิจารณาที่ละซอง ได้แก่ ซองคุณสมบัติ ซองเทคนิค ซองการเงินและผลตอบแทน และซองข้อเสนออื่นๆ โดยผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดและให้ผลตอบแทนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ ไม่ใช่มีผู้ยื่นคำร้องแล้วมาเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ ทั้งที่มีการเปิดขาย TOR ไปแล้ว

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รฟม. จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท

โดยรัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 505 แปลง หรือ 41 ไร่ 1 งาน 96 ตร.ว. รวม 331 หลัง และสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

แนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี ปัจจุบันกำลังก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 60% จะเสร็จเปิดบริการในปี 2567
และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นใต้ดินตลอดสาย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี โดยคาดว่าจะเปิดบริการตลอดสายในปี 2569

โดยมี 10 บริษัท ซื้อเอกสารประกวดราคา ได้แก่

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่าจะมีผู้ยื่นซองประมูล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบีทีเอส จะรวมกับพันธมิตรคือ ซิโน-ไทยฯ -กัลฟ์-ราชกรุ๊ป และอาจจะมีซิโนไฮโดร กับกลุ่ม BEM และ ช.การช่าง