BTS-BEM สู้ยิบตาชิงรถไฟฟ้าสายสีส้ม สำนักงบฯข้องใจ รื้อทีโออาร์เพิ่มหนี้ให้รัฐ

รถไฟฟ้าสายสีส้ม

จับตาประมูล PPP สายสีส้ม 1.28 แสนล้านพลิก หลังเปลี่ยนประธานบอร์ดคัดเลือกร่วมทุน รื้อเกณฑ์ TOR รวบคะแนนเทคนิคพิจารณารวมข้อเสนอด้านราคา-ผลตอบแทน ปิดทางผู้ยื่นเสนอราคาต่ำสุด วงในเผย 2 บิ๊กรถไฟฟ้า BTS-BEM เดินเกมชิงโปรเจ็กต์ สำนักงบฯหวั่นเพิ่มหนี้ระยะยาว ข้องใจใช้เกณฑ์ไม่เหมือนโครงการอื่น

วันที่ 27 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปิดขายซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ที่เปิดให้เอกชนลงทุน PPP net cost สร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม จัดหาระบบ รับสัมปทานเดินรถตลอดสาย 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท รัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท และสนับสนุนค่าโยธา 96,012 ล้านบาท มี 10 บริษัทซื้อเอกสาร กำหนดยื่นซอง 23 ก.ย. เปิดข้อเสนอ 30 ก.ย.นี้

แต่หลังเปลี่ยนประธานคณะกรรมการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ 2562 ประกอบกับอิตาเลียนไทยฯ ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไม่ให้พิจารณาเฉพาะผลประโยชน์การเงินสูงสุด ให้พิจารณาผู้ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม เช่น ด้านเทคนิค ความน่าเชื่อถือ ศักยภาพและความสามารถ ขณะที่บีทีเอสทำหนังสือถึง รฟม.คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ ล่าสุดวันที่ 21 ส.ค. 2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 อนุมัติให้ปรับปรุงเกณฑ์ผู้ชนะใหม่ และขยายเวลายื่นซองเป็น 6 พ.ย. 2563

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า ยังคงยืน 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การลงทุนและผลตอบแทนการเงิน และข้อเสนออื่น ๆ แต่จะนำคะแนนเทคนิค 30% มาประเมินรวมกับซองการลงทุนและผลตอบแทนการเงินด้วย จากเดิมผู้ผ่านคุณสมบัติต้องผ่านเทคนิค 85% จะได้เปิดซองราคา

โดยการประเมินใหม่จะนำคะแนนเทคนิคถอดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมกับซองราคาและดูว่าเอกชนรายไหนเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุดจะชนะ และยืนยันว่าวิธีประเมินใหม่ ยังคงเป็นส่วนสำคัญใช้ตัดสินหาผู้ชนะ จึงมิได้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่ง รฟม.จะออกเอกสารเพิ่มเติมตามเกณฑ์ใหม่ไม่เกินวันที่ 28 ส.ค.นี้ และขยายวันยื่นซอง 45 วันให้มีเวลาทำเอกสารตามที่ปรับใหม่”

ตั้งข้อสงสัย “ไม่เหมือนโครงการอื่น”

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคัดเลือก เปิดเผยว่า กรรมการยังมีความเห็นแตกต่างกัน เช่น ผู้แทนสำนักงบประมาณ ยืนยันต้องดูการเงินและเลือกเอกชนที่ให้ผลตอบแทนกับรัฐสูงสุดเป็นผู้ชนะไม่ให้เป็นภาระงบประมาณระยะยาว เพราะรัฐต้องสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธากว่า 90,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7 ปี นับจากเริ่มสร้าง 2 ปี หากรายไหนให้รัฐสนับสนุนน้อย จะลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ 40,000 ล้านบาทได้ และตั้งข้อสงสัยว่าทำไมใช้เกณฑ์พิจารณาไม่เหมือนโครงการอื่น

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการรับเหมาก่อสร้าง กล่าวว่า เป็นการเดินเกมช่วงชิงของ 2 กลุ่มทุนใหญ่ คือ กลุ่ม BTS ที่จะร่วมกับกัลฟ์ฯ-ซิโน-ไทยฯ-ราช กรุ๊ป และอาจจะเป็นซิโนไฮโดรฯ กับ BEM ร่วมกับ ช.การช่าง ส่วนอิตาเลียนไทยฯคาดว่าจะเป็นซับคอนแทร็กเตอร์ให้ BEM

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับรายงานกรณีเปลี่ยนเกณฑ์ TOR สายสีส้ม แต่ให้ยึดตาม TOR และระเบียบกฎหมาย หากไม่ถูกต้องก็ยกเลิก ขอให้เชื่อมั่นการทำงานของคมนาคมว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ส่วนนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่าทำหนังสือถึง รฟม.เพื่อให้พิจารณาถึงความถูกต้อง ยุติธรรม จากการปรับเกณฑ์ใหม่ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในโครงการ PPP ทั้งนี้บีทีเอสคงเข้าร่วมประมูล หากมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ต้องสู้เต็มที่ อย่างมากก็แพ้