“ภูมิใจไทย” ดันสุดตัว 8.5 หมื่นล้าน ยางพาราหุ้ม “แบริเออร์-หลักนำทาง”

“ภูมิใจไทย” ดันสุดตัว 8.5 หมื่นล้าน ยางพาราหุ้ม “แบริเออร์-หลักนำทาง” ติดล็อก “สำนักงบฯ” อนุมัติลงทุนทีละเฟส

โครงการนำยางพารามาใช้ปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ผ่านการผลิต “แผ่นยางครอบแบริเออร์” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” มี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ผลักดันโมเดล

โดยเปิดตัวโครงการครั้งแรกที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด “ทริป ครม.สัญจร” ที่ จ.ระยอง กระทรวงคมนาคมจัดงานเป็นครั้งที่ 2 ปักหมุด อ.เขาคิชกูฏ จ.จันทบุรี ให้ “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคิกออฟเป็นพื้นที่นำร่อง สำนักงบฯให้ก้อนแรก 2 พันล้าน

หลังที่ประชุม “ครม.สัญจร” อนุมัติงบฯกลางปี 2563 วงเงิน 2,771 ล้านบาท เดินหน้าโครงการระยะแรก แยกเป็นกรมทางหลวง (ทล.) วงเงิน 1,719 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 1,052 ล้านบาท จากเป้าทั้งโครงการ จะดำเนินการ 3 ปี ใช้งบประมาณ 85,623 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือรอ “สำนักงบประมาณ” จัดสรรให้เป็นเฟส ๆ เนื่องจากยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีโครงการนี้ จึงยังไม่มั่นใจว่าโครงการจะกระตุ้นราคายางพาราและเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ในเมื่อเป็นการช่วยปลายทาง คือ ความปลอดภัยทางถนน มากกว่า “ผู้ปลูกยางพารา” ที่เป็นต้นทาง

“บิ๊กตู่” เชื่อราคายางจะดีขึ้น

โดยพลเอกประยุทธ์กล่าวว่า เชื่อว่าการนำยางพารามาใช้ในการผลิตทั้งแบริเออร์และหลักนำทาง จะทำให้การบริโภคยางพาราในประเทศสูงขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราสูงขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าการดำเนินการครั้งนี้จะยังใช้งบประมาณจากรัฐเหมือนโครงการอื่น ๆ แต่ดีกว่านำเงินไปใช้ในวิธีอื่น ๆ ที่เพียงแต่พยุงราคาไว้เท่านั้น และเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดมูลค่ามากขึ้น และจะส่งผลกลับมาสู่ประชาชนชาวสวนยางมีรายได้ที่ดีขึ้น

ด้าน “สราวุธ ทรงศิวิไล” อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า การเลือกคิกออฟที่ จ.จันทบุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย และเป็นพื้นที่ที่ปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก สำหรับกรมเริ่มทำแผ่นยางหุ้มแบริเออร์แล้ว จะเริ่มต้นก่อน 400 เมตร เพื่อดูผลทดสอบ หลังจากนั้นจะทำเพิ่มให้ได้ระยะทาง 20 กม. เพื่อทดแทนช่วงที่เป็นเกาะสีทั้งหมดตามเป้าหมาย และมีแผนจะไปคิกออฟต่อที่ จ.สตูล และ จ.บึงกาฬ เพื่อกระตุ้นการผลิตยางของสหกรณ์ชาวสวนยางในพื้นที่

เงินถึงมือเกษตรกร 3 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทมีระยะเวลาดำเนินการโครงการดังกล่าว 3 ปี (2563-2565) 85,623 ล้านบาท ตั้งเป้าผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282.735 กม. 83,421 ล้านบาท และหลักนำทางจากยาง 1.063 ล้านต้น 2,202 ล้านบาท คาดจำนวนเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 3 ปี รวม 30,108 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณน้ำยางที่ใช้ 1 ล้านตัน เฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน

สำหรับต้นทุนการผลิต ในส่วนของแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ มีต้นทุนที่ 3,140-3,757 บาท/เมตร โดยผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 2,189.63-2,798.10 บาท/เมตร และคาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วน 70-74% ส่วนหลักนำทางธรรมชาติ มีต้นทุนอยู่ที่ 1,607-2,223 บาท/ต้น โดยผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับอยู่ที่ 1,162.58-1,778.18 บาท/ต้น และคาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์คิดเป็นสัดส่วน 72-80%

“แบริเออร์หุ้มยางพาราและหลักนำทางจะมีอายุใช้งานประมาณ 3 ปี จึงเสื่อมสภาพ มีแผนจะนำยางที่เสื่อมสภาพมาใช้ผลิตเป็นไบโอดีเซล ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยถึงแนวทางดังกล่าวอยู่ และจะเริ่มสำรวจตรวจสอบเพื่อเปลี่ยนแผ่นยางและหลักนำทาง ต้องใช้น้ำยางพาราทดแทนยางที่เสื่อมสภาพประมาณปีละ 336,250 ตัน และจะมีผลประโยชน์ถึงเกษตรกร 9,534 ล้านบาท”

ขณะที่ “ปฐม เฉลยวาเรศ” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขอหารือกับสำนักงบประมาณก่อน เพราะมีการใช้งบฯกลางที่ได้รับ

การอนุมัติจาก ครม. 1,052 ล้านบาท และงบฯเหลือจ่ายจากการแปลงการใช้พาราเอซีเป็นเอซีของปี 2563 วงเงิน 400 ล้านบาท ในโครงการนี้ด้วย ซึ่งกรมจะต้องส่งโครงการให้สำนักงบประมาณพิจารณาออกงวดเงินก่อนจะจัดซื้อจัดจ้างได้ และสำนักงบประมาณประเมินด้วยว่าโครงการนี้สำเร็จตามแผนหรือไม่ หากประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ถึงจะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป คาดว่าจะใช้วิธีของบฯกลางในการดำเนินการเป็นหลัก

“เป้าการผลิตแผ่นยางพาราหุ้มแบริเออร์และหลักนำทางอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องหารือกับสำนักงบประมาณ เพราะได้งบฯมาน้อยกว่าที่ขอไว้มาก งบฯกลางปี 2563 ขอไว้รวมกันกับกรมทางหลวง 4,430 ล้านบาท ได้รับอนุมัติ 2,771 ล้านบาทเท่านั้น ต้องดูก่อนว่าจะนำไปผลิตทั้ง 2 อย่างได้เท่าไหร่”

เปิดตัวเลขการผลิต 3 ปี

เนื่องจากวงเงินที่ได้รับยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประเมินปี 2563-2565 จะใช้วงเงิน 85,623.774 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 12,282.735 กม. 83,421.602 ล้านบาท และผลิตหลักนำทางยางพารา 1,063,651 ต้น 2,202.172 ล้านบาท จะใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพารา แบ่งเป็น ยางพาราแห้ง 302,385 ตัน ยางพาราข้น 503,975.672 ตัน น้ำยางสด 1,007,951 ตัน

เมื่อจำแนกเป็นรายปี ในปี 2563 วงเงิน 2,454.645 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 250 กม. 1,856.929 ล้านบาท หลักนำทาง 289.635 ต้น 597.716 ล้านบาท รายได้ถึงมือเกษตรกร 951.878 ล้านบาท, ปี 2564 วงเงิน 39,175 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 5,742.811 กม. 38,477.292 ล้านบาท หลักนำทาง 334,452 ต้น 697.716 ล้านบาท รายได้ถึงมือเกษตรกร 13,871.370 ล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 43,994 ล้านบาท แบ่งเป็น ผลิตแผ่นยางหุ้มแบริเออร์ 6,289.924 กม. 43,087.381 ล้านบาท หลักนำยาง 439,564 ต้น 906.740 ล้านบาท รายได้ถึงมือเกษตรกร 15,285.557 ล้านบาท