“บิ๊กป้อม” ควงผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่-เร่งฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” ใน 6 เดือน

ประวิตร อัศวิน ลงพื้นที่ กทม.

“พล.อ.ประวิตร” ควง ”ผู้ว่าฯ อัศวิน“ ลงพื้นที่บางกะปิ รีเช็กแผนบริหารจัดการน้ำเสีย ฟื้นฟูคลองแสนแสบ ลั่น 6 เดือน ต้องเห็นผล

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ติดตามแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ณ ท่าเรือบางกะปิ เขตบางกะปิ

สำหรับคลองแสนแสบอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ มีความยาว 72 กม. ไหลผ่าน 2 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เริ่มต้นจากคลองมหานาคบริเวณตลาดโบ๊เบ๊ไปจนสุดเขตกรุงเทพฯ เชื่อมกับคลองบางขนาก และไหลไปลงแม่น้ำบางปะกง เขต จ.ฉะเชิงเทรา

ในพื้นที่กรุงเทพฯ คลองแสนแสบมีความยาว 45.5 กม. กว้าง 20-30 เมตร ระดับดินเดิมภายในคลองแสนแสบ มีระดับขุดลอกเฉลี่ย -3.00 ม. มีคลองสาขาเชื่อมต่อหลายสายรวม 101 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 21 เขตการปกครอง มีบทบาทสำคัญระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การคมนาคมขนส่งทางน้ำ

ปัจจุบัน กทม. มีแนวโน้มการขยายตัวของชุมชนเมืองมากขึ้น ส่งผลให้คลองแสนแสบกลายเป็นแหล่งรับน้ำทิ้งจากบ้านเรือน ชุมชน และสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขาตลอด 21 เขตการปกครอง สอดคล้องกับคุณภาพน้ำภายในคลองแสนแสบและคลองสาขา พบว่าพื้นที่ชั้นในช่วงประตูน้ำ – มีนบุรี มีค่าความสกปรกสูง และค่าความสกปรกเริ่มลดน้อยลง เมื่อเริ่มเข้าสู่พื้นที่ชั้นนอกช่วงมีนบุรี – หนองจอก ค่าความสกปรกนี้ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยบริเวณดังกล่าว

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.แก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำภายในคลองแสนแสบ ด้วยการให้บริการบำบัดน้ำเสียโดยโรงควบคุมคุณภาพน้ำขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากชุมชน บ้านเรือน และสถานประกอบการต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ตลอดจนการจัดให้มีระบบการไหลเวียนน้ำภายในคลอง และการประชาสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเสียภายในคลองแสนแสบและคลองสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่ และเป็นการบูรณาการการแก้ไขปัญหาน้ำเสียอย่างยั่งยืน กทม.จึงร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า
กรมชลประทาน และกรมธนารักษ์ ในการจัดทำแผนงานการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ

แบ่งเป็น 3 ระยะ 1.ระยะเร่งด่วน 6 เดือน (ก.ย. 2563 – ก.พ. 2564) เป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคลองแสนแสบในระยะเร่งด่วน อาศัยมาตรการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรือ กทม. คลองแสนแสบ

ครอบคลุมภารกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ กิจกรรมประกอบด้วย การสำรวจแหล่งกำเนิดน้ำเสียที่ตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา และการให้ความรู้แก่เจ้าของ หรือผู้พักอาศัยในอาคาร หรือสถานประกอบการริมคลองเกี่ยวกับการบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ด้านที่ 2 การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ภายในคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การขุดลอกตะกอนท้องคลองภายในคลองแสนแสบและคลองสาขา และการจัดเก็บขยะและวัชพืชในคลองเพื่อเปิดทางไหลของน้ำ

ด้านที่ 3 การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่ริมฝั่งคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การจัดเก็บขยะและที่พักขยะริมฝั่งคลอง การซ่อมแซมและทำความสะอาดสิ่งก่อสร้างพื้นที่ริมฝั่งคลอง และการจัดระเบียบทางเดินริมฝั่งคลอง อาทิเช่น จัดระเบียบทางเดินทางเท้าและราวกันตกริมเขื่อน ไม่ให้มีการตั้งวาง ตาก แขวนสิ่งของ รื้อย้ายสิ่งก่อสร้างที่รุกล้ำทางเดินริมเขื่อน/แนวเขตคลอง

ด้านที่ 4 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง กิจกรรมประกอบด้วย การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์/สร้างเอกลักษณ์พื้นที่ริมคลองในแต่ละจุดด้วยงานศิลปะ

ด้านที่ 5 การพัฒนาขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ กิจกรรมประกอบด้วย การคัดเลือกคลองต้นแบบและจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์พื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ

ริมคลองแสนแสบ

สำหรับระยะกลาง ปี2563 – 2566 เป็นการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการที่ กทม.ได้รับงบประมาณเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมทั้งสิ้น 6 โครงการ

ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มติม จำนวน 3 โครงการ เพื่อรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่โรงควบคุมคุณภาพน้ำของกรุงเทพมหานคร การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียคลองเตย โรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะ 1 และโรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2

ส่วนระยะยาวปี 2563 – 2574 จะก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก และระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ ให้ครอบคลุมพื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา รวม 9 โครงการ ปัจจุบันยังไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินการ

ประกอบด้วย 1.งานก่อสร้างเขื่อน คสล. จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงประตูระบายน้ำหนองจอก และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองแสนแสบจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงบริเวณประตูระบายน้ำคลองตัน

2.การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียดอนมือง โรงบำบัดน้ำเสียบางเขน โรงบำบัดน้ำเสียบึงกุ่ม โรงบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว โรงบำบัดน้ำเสียวังทองหลาง โรงบำบัดน้ำเสียสะพานสูง และโรงบำบัดน้ำเสียหนองจอก 1

เรือคลองแสนแสบ

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ 1.กรมธนารักษ์ ส่งมอบการดูแลคลองแสนแสบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพัฒนาและการบริหารจัดการ

2.กทม. กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมเจ้าท่า ร่วมพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบในระยะเร่งด่วนให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ เช่น การขุดลอกดินเลนในคลองที่ตื้นเขิน การควบคุมคุณภาพน้ำทิ้ง การตรวจจับความเร็วของการเดินเรือโดยสารขนาดเล็ก และการจัดการปัญหาการรุกล้ำริมคลอง เป็นต้น

3.กรมชลประทาน และ กทม.ร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 4.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเร่งรัดขับเคลื่อนโครงการสำคัญของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งและบำบัดน้ำเสียตลอดแนวคลองแสนแสบและคลองสาขา

5.กรมเจ้าท่า จัดการจราจรทางน้ำให้ปลอดภัย ไร้มลพิษทางเสียงและกลิ่น โดยเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันทำงานอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เป็นต้นแบบให้กับคลองอื่นๆ ที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน อีกทั้งต้องสร้างการรับรู้ให้ทุกภาคส่วนทราบและร่วมมือตามแนวทางจิตอาสาด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขอนามัยที่ดีของประชาชนทุกคน

“กทม. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟื้นฟูคลองแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง ต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง ไม่ทิ้งขยะ และไม่รุกล้ำริมคลอง รวมทั้งผู้ประกอบการ ร้านค้า โรงแรม ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้คลอง ไม่ทิ้งน้ำเสียลงในคลอง เพื่อร่วมกันดูแลรักษาคลองอีกทางหนึ่ง สำหรับแผนพัฒนาระยะเร่งด่วน 6 เดือนนี้ มั่นใจว่าภูมิทัศน์และคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบจะดีขึ้น” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว