“ภูมิใจไทย” ปักหมุด “อุทัยธานี” กดปุ่ม “แบริเออร์ยางพารา” จ่อของบฯอีก 4 หมื่นล้านลุยเฟส2

“ภูมิใจไทย” เยือนฐานเสียงเมืองอุทัย คิกออฟจังหวัดที่ 7 “ศักดิ์สยาม” อวดทำราคายางพุ่งทะลุ 63 บาท ลั่นจะทำต่อจนกว่าราคายางจะมีประสิทธิภาพ ด้านลูกมืออธิบดีทช.เผยจ่อของบกลางปี ‘64 อีก 4 หมื่นล้านทำต่อเฟสที่ ‪2 พ.ย.‬นี้ ส่วนปี 65 ของบปกติ “กรมส่งเสริมสหกรณ์”คาดเกษตรกรอุทัย-พื้นที่ใกล้เคียงได้ประโยชน์กว่า 3,000 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย
ร่วมเดินทางมาเปิดโครงการคิกออฟการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ณ ทางหลวงหมายเลข 3265 ตอน แยกโคกหม้อ – ท่าซุง กม.ที่ 7+525 – 7+725 ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ 7 ต่อจากจ.จันทบุรี , สตูล, กระบี่, นครพนม, เลยและบึงกาฬ

ราคายางพาราพุ่ง 63บาท/กก.

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้เริ่มดำเนินการระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 ที่จ.จันทบุรี โดยใช้งบกลางจำนวน 2,700 ล้านบาทในการดำเนินการ
พบว่าได้ทำให้ราคายางประเภทน้ำยางสดมีราคาดีขึ้นจากเดือนส.ค.อยู่ที่ 43 บาท/กก. มาวันที่ 30 ก.ย. 2563 ราคาน้ำยางสดปรับขึ้นไปอยู่ที่ 63 บาท/กก. ส่วนราคายางก้นถ้วยเคยตกต่ำเหลือเพียง 8 บาท/กก. แต่ราคา ณ วันที่ 30 ก.ย.ปรับขึ่นมาอยู่ที่ 22 บาท/กก. ซึ่งปรับขึ้นมาถึง 14 บาท

แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะวางเป้าหมายว่าจะต้องมีราคาอยู่ที่ 28 บาท/กก. และจะนำยางพารามาใช้งาน 45,000 ตัน และใน 3 ปี มีเป้าหมายใช้ยางพาราทั้งหมด 1.07 ล้านตัน

“หากพี่น้องประชาชนนำยางพาราไปขายแล้วไม่ได้ราคาดี ให้ร้องเรียนมาที่ส.ส. ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เลย จะสามารถทำให้ท่านขายยางพาราได้ราคาแน่นอน และเรายืนยันจะทำต่อไปเรื่อยๆจนกว่าราคายางพาราของพี่น้องจะมีเสถียรภาพ” นายศักดิ์สยามกล่าว

จ่อของบกลางปี 64 อีก 4 หมื่นล้าน

ขณะที่นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ในการดำเนินการระยะที่ 1 ทั้งทล.และทช.ได้งบกลางปี 2563 จำนวน 2,771 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นเงินเหลือใช้จากการปรับแผนดำเนินการของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จากสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เปลี่ยนเป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ภายในกรอบวงเงินอีก 2,500 ล้านบาท โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือน พ.ย. 2563

“ส่วนในระยะที่ 2 จะของบกลางปี 2564 ภายในเดือน พ.ย.นี้อีก 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน ส่วนการดำเนินการในปี 2565 จะใช้วิธีของบประมาณปกติดำเนินการ “

อุทัย-นครสวรรค์-สุพรรณปลุกยาง 7.7หมื่นไร่

ด้านนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier: RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post: RGP)
โดยมีกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่จะดำเนินการในระยะที่ 1 (2563) 30 แห่ง แยกเป็นสหกรณ์ที่ผลิตแผ่นครอบกำแพงคอนกรีตจำนวน 11 แห่ง กำลังการผลิต 579 กม./ปี และสหกรณ์ผู้ผลิตหลักนำทางธรรมชาติจำนวน 13 แห่ง กำลังการผลิต 832,800 ต้น/ปี และจัดเตรียมเงินทุนสนับสนุนสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์

“ปัจจุบันสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการได้เริ่มผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 อย่างแล้วในระยะที่ 1มีจำนวน 8 แห่ง อีก 22 แห่งที่เหลือจะทยอยดำเนินการในเดือนพ.ย. 2563”

ทั้งนี้ ในพื้นที่จ.อุทัยธานี นครสวรรค์ และสุพรรณบุรีบางส่วน มีพื้นที่ปลูกยางพารารวม 77,972 ไร่ มีจำนวนสหกรณ์ยางพารา 26 แห่ง สมาชิก 3,798 ราย โดยผลผลิตที่ได้จะเป็นยางก้นถ้วยเสียส่วนใหญ่ ซึ่งแปรรูปเป็นแผ่นยางครอบแบริเออร์ได้ 14 กม./เดือน และผลิตหลักนำทางธรรมชาติ 300 ต้น/วัน