แกะปมงบแสนล้าน “สายสีแดง” บิ๊กโปรเจ็กต์ “ยิ่งสร้าง ยิ่งช้า งบยิ่งบาน”

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ใช้เวลาสร้างนานถึง 13 ปี “รถไฟชานเมืองสายสีแดง” ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 41 กม. ถือเป็นโปรเจ็กต์ทุบสถิติที่ใช้เงินก่อสร้างบานตะไท จากการปรับกรอบวงเงินถึง 5 ครั้ง

ล่าสุดกำลังจะมีครั้งที่ 6 ตามมาเร็ว ๆ นี้ จากกรอบเดิมที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 พ.ค. 2550 อนุมัติ 52,220 ล้านบาท รวมเป็นเงินถึง 104,295 ล้านบาท

ผ่านมือหลายรัฐบาล

การปรับวงเงินลงทุนได้ผ่านการพิจารณาจากหลายรัฐบาล ตั้งแต่ “รัฐบาลประชาธิปัตย์” จนถึง “รัฐบาลประยุทธ์” ทำให้ต้องปรับแบบปรับเนื้องานใหม่ตลอดเวลา ทั้งศูนย์ซ่อมบำรุง ที่จอดรถชั้นใต้ดิน เพิ่มสถานี ซื้อขบวนรถเพิ่ม

แต่งบฯก้อนใหญ่มาจากการที่ผู้รับเหมาโยธาและงานระบบ เสนอวงเงินเกินกรอบราคากลาง รวมถึงนโยบายทางการเมืองที่โหมลงทุนรถไฟความเร็วสูง ทำให้ต้องปรับแบบ “สถานีกลางบางซื่อ” รวมถึงโครงสร้างทางวิ่ง

ผลจากการขยับกรอบวงเงิน 5 ครั้ง ทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้างได้งานและเงินเพิ่มโดยปริยาย ตัวเลขล่าสุดสัญญาที่ 1 งานสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง วงเงินอยู่ที่ 34,142 ล้านบาทมีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บมจ.ซิโน-ไทยฯ และ บมจ.ยูนิคฯ เป็นผู้ก่อสร้าง

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างทางวิ่งยกระดับและระดับพื้น งานสถานี 8 แห่ง และถนนเลียบทางรถไฟ ถนนทางข้ามไซต์ก่อสร้างของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ วงเงินอยู่ที่ 24,587 ล้านบาท

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้า เครื่องกล และจัดหาตู้รถไฟฟ้า มีกลุ่มมิตซูบิชิ-ฮิตาชิ-สุมิโตโม จากญี่ปุ่น เป็นผู้ดำเนินการ วงเงินอยู่ที่ 32,399 ล้านบาท

ซึ่งการปรับกรอบวงเงินครั้งที่ 6 อีกประมาณ 10,345 ล้านบาทนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังขอ ครม.อนุมัติปรับเพิ่มกว่า 200 รายการ เช่น งานที่เปลี่ยนแปลงของสัญญาที่ 1 วงเงิน 5,566 ล้านบาท สัญญาที่ 2 วงเงิน 265 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 วงเงิน 3,117 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน 154 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ 106 ล้านบาท และค่าเผื่อเหลือเผื่อขาดอีก 1,134 ล้านบาท

หวั่นค่าโง่ซ้ำซาก

ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จริงมี “ชยธรรม์ พรหมศร” ปลัดคมนาคมเป็นประธาน เพื่อ “รีเช็ก” เนื้องานที่บานปลาย ว่าเป็นไปตามระเบียบและกฎหมายหรือไม่

และใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ เพื่อไม่ให้เป็นข้อพิพาท หรือค่าโง่ภายหลัง เมื่อพลิกดูเนื้องานที่เพิ่มขึ้น เป็นแบบเบี้ยหัวแตก ตั้งแต่งานเล็กยันงานใหญ่ ปัจจุบันได้ตีกลับข้อมูลให้ ร.ฟ.ท.เร่งทบทวน หลังตัวเลขไม่ตรงจากที่เสนอขอปรับก่อนหน้านี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รอ ร.ฟ.ท.นำข้อมูลมาเสนอใหม่ ว่าสุดท้ายค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นเท่าไหร่แน่ เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่ส่งให้พิจารณาคนละตัวเลขกับที่เสนอมาในตอนแรก พร้อมสั่งการให้เสนอรายละเอียดกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

ที่ประชุมตั้ง 3 คณะทำงานคือด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค และด้านแหล่งเงิน เพื่อพิจารณาให้ครอบคลุมก่อนเข้า ครม.

คณะทำงานให้ ร.ฟ.ท.ทำข้อมูลสรุปรายละเอียดงานก่อสร้างเพิ่มเติม ที่มีมูลค่าเกิน 15% /ตรวจสอบมติบอร์ด/ ตรวจสอบการออกคำสั่ง/ให้ฝ่ายกฎหมาย ร.ฟ.ท.ตีความเรื่องค่างาน

“ร.ฟ.ท.ให้รับเหมาสร้างไปก่อน ทั้งที่เงินยังไม่ได้ ต้องแจงเพราะงบฯเพิ่มมา 5 ครั้งแล้ว โดยเน้นย้ำให้ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและผู้อนุมัติมีอำนาจหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนการเดินรถจะเปิดบริการปี 2564 ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงคมนาคม เพราะปัญหาเกี่ยวโยงกันหมด แล้วระหว่างที่รอสรุป เมื่อ 15 ต.ค. 2563 บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติปรับกรอบวงเงินลงทุนอีก 3,143 ล้านบาท จากภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนำเข้า และอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้วงเงินรวมของโครงการขยับมาที่ 97,093 ล้านบาท

ซึ่งเป็นการปรับเล็ก ยังไม่รวมก้อนใหญ่อีก 10,345 ล้านบาท

ไทม์ไลน์ยังไม่นิ่ง

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังไม่เห็นมติบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่เพิ่มงบฯสายสีแดงไป 3,143 ล้านบาท แต่การเพิ่มกรอบวงเงินจากภาระภาษีและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องปกติ ส่วนวันเวลาเปิดให้บริการ พ.ย. 2564 ตามที่ ร.ฟ.ท.กำหนด “ยังไม่อยากยืนยัน” เพราะปัญหาค่างานพิเศษที่เพิ่มมา 10,345 ล้านบาท ยังสรุปกันไม่ได้

ขณะนี้ได้หารือร่วมกันระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร.ฟ.ท. และ กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ สำนักงานอัยการสูงสุด ถึงระเบียบและข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการขอเปิดใช้บริการไปก่อนระหว่างรอสรุปอำนาจในการสั่งงาน ว่าเป็นอำนาจของผู้ใดบ้าง และกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากการเปิดให้บริการในระหว่างที่ยังจ่ายค่างานที่เพิ่มขึ้น เสี่ยงที่จะถูกเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ จึงยังไม่อยากยืนยันว่าจะเปิดให้บริการในปี 2564 ได้หรือไม่

ร.ฟ.ท.ย้ำหมุดออกวิ่ง พ.ย. 64

“เราพยายามจะเปิดเดินรถในปี 2564 เพราะจะเดินรถช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สร้างเสร็จมา 8 ปีด้วย แต่เพราะรองานระบบและซื้อรถทำให้การเปิดใช้ล่าช้า” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับการเดินรถให้บริษัทลูกคือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จะมาเป็นผู้เดินรถให้เป็นการชั่วคราว 2-3 ปี ช่วงเปลี่ยนถ่ายไปสู่การเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน PPP ตามที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบาย เพื่อให้เอกชนมารับภาระค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นและสร้างส่วนต่อขยายให้อีก 4 เส้นทาง รวม 67,575.37 ล้านบาท ได้แก่ 1.รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และ 4.Missing Link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง แลกกับรับสัมปทานเดินรถ 30-50 ปี

เป็นความท้าทายอีกระลอกใหญ่ของปี 2563