กทม.เสริมทีม-กระสอบทราย 3.5 ล้านใบรับมือน้ำท่วมกรุง

น้องน้ำโจมตี - พายุพัดกระหน่ำช่วงก่อนย่ำรุ่งวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่งผลมีน้ำท่วมขังกระจายทั่วกรุง สาเหตุเพราะฝนตกหนักปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ล่าสุด กทม.เร่งระดมหน่วยงานในสังกัดรับมือตลอด 24 ชั่วโมง

กทม.รับมือน้ำฝน-น้ำเหนือ ปรับลดระดับน้ำในคลอง ระดมคน เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย 3.5 ล้านใบ ป้องพื้นที่ชั้นใน ใจกลางเมือง เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เขตพระนคร รอบสนามหลวง บรมมหาราชวัง เผยเมืองพัฒนาไปไกล มีงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย ถนน รถไฟฟ้า ส่งผลให้จุดอ่อนน้ำท่วมซ้ำซากเพิ่มจากเดิม 19 จุด ปีหน้าขยายท่อใต้ดินย่านสุขุมวิท พหลโยธิน เจริญกรุงแล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเกิดฝนตกหนักเกิน 200 มิลลิเมตร จนทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุด กทม.เตรียมแผนฉุกเฉินรับมือกับปริมาณน้ำฝนในช่วงระหว่างจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยระดมเจ้าหน้าที่และเครื่องสูบน้ำ เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมงในพื้นที่เขตพระนคร รอบสนามหลวงและเขตบรมมหาราชวัง

“น้ำท่วมช่วง 13-14 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดจากปริมาณน้ำฝนมากเกินที่รองรับได้ 60 มิลลิเมตร เพราะฝนตกต่อเนื่องหลายชั่วโมง ยังไงก็กทม.ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ต้องเร่งสูบออกเพื่อระบายออกจากพื้นที่เร็วที่สุด ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือผู้รับเหมาช่วยเปิดการระบายน้ำอุโมงค์ใต้คลองบางซื่อ จากเดิมจะใช้งานได้ 100% ในเดือน ธ.ค.นี้ ก็ช่วยระบายน้ำถนนวิภาวดีได้ระดับหนึ่ง”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า วิธีการต้องเพิ่มพื้นที่คลอง ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงให้ต่ำ เตรียมเครื่องมือและคนไว้ตลอดเวลา มีหน่วยเบสต์ 100 กว่าหน่วย รวมถึงขยายท่อใต้ดินเร่งระบายน้ำในพื้นที่ท่วมซ้ำซาก ขนาด 1.50-2.00 เมตร รองรับปริมาณน้ำฝนได้ 100 มิลลิเมตร ปัจจุบัน กทม.ได้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ก่อสร้าง 16 โครงการ เริ่มสร้างแล้ว 11 โครงการ จะเสร็จปี 2561-2562 ประกอบด้วย 1.ถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) 2.ถนนศรีอยุธยาและถนนพระรามที่ 6 3.ถนนพหลโยธิน แยกเกษตรศาสตร์ 4.ซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี 5.ถนนสุขุมวิท 63 (เอกมัย) 6.ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุง 7.ซอยสุขุมวิท 4 (นานาใต้) 8.ซอยสุขุมวิท 14 9.ซอยสุขุมวิท 39 10.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู 11.ถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา จากนั้นจะก่อสร้างส่วนที่เหลือ 5 โครงการ ได้แก่ 1.ถนนอู่ทองนอก (ลานพระราชวังดุสิต) 2.ปรับปรุงบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี ตอนสถานทูตอินโดนีเซีย 3.ก่อสร้างระบบระบายน้ำบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ 4.ก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนจันทน์ และ 5.ก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนสุวินทวงศ์

“สภาพพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก มีก่อสร้างที่อยู่อาศัย ถนนและรถไฟฟ้า ทำให้จุดอ่อนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขยายวงกว้างขึ้นในพื้นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น รัชโยธิน ห้วยขวาง จากเดิม 20-30 จุดได้แก้ไขเหลือประมาณ 19 จุด เช่น รัชดา งามวงศ์วาน ชินเขต แจ้งวัฒนะ วงเวียนหลักสี่ ซอยสวนพลู ถนนศรีอยุธยา ถนนพัฒนาการ หากจะออกแบบท่อระบายน้ำได้ถึง 200 มิลลิเมตร ต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทถึงจะแก้ได้สมบูรณ์” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับการรับมือกับน้ำเหนือ ได้ประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากจะมีการระบายน้ำผ่านพื้นที่กทม.ฝั่งตะวันตกผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาและตะวันออกลงทะเลอ่าวไทย ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้สร้างคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จบางส่วนแล้ว มีความสูง 2.80-3.5 เมตร รองรับน้ำได้ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือไหลผ่าน กทม. วันละ 2,600-2,700 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที ตอนนี้ กทม.ยังรับมือได้อยู่

“เวลาน้ำทะเลหนุนสูงชุมชนนอกคันกั้นน้ำ 430 ครัวเรือน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ในพื้นที่ 10 เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และราษฎร์บูรณะ ได้รับผลกระทบแน่นอน นอกจากการบริหารจัดการทั้งหมดแล้ว กทม.ยังเตรียมกระสอบทรายไว้ 3.5 ล้านใบ ไว้อุดตรงแนวคันกั้นน้ำที่เป็นฟันหลอด้วย” แหล่งข่าวกล่าว