รถไฟไทย-จีนติดปมมรดกโลก “สถานีอยุธยา” เลื่อนเซ็นลอตสุดท้าย 5.6 หมื่นล้าน

“ประวิตร” ประธานคณะกรรมการมรดกโลก ยังไม่ไฟเขียวแบบ ”สถานีอยุธยา” ไฮสปีดไทย-จีน สั่งรถไฟศึกษาออกแบบใหม่ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด รับเหมา 6 สัญญา รอเซ็นงาน 5.6 หมื่นล้านเหงือกแห้ง คาดดีเลย์ยาว ไทม์ไลน์เปิดขยับจากปี’68

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ 2/2563 โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลกระทบในการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (รถไฟไทย-จีน) ในบริเวณพื้นที่ให้แหล่งโบราณสถานใน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แต่ยังคงไว้ซึ่งความสะดวกต่อการใช้งานของพี่น้องประชาชน โดยให้มีมติเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาให้เกิดความเหมาะสมต่อไป

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ภาพรวมของโครงการรถไฟไทย-จีน แบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 14 สัญญา ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาแล้ว 13 สัญญา เหลือช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทางกว่า 10 กม. รอปรับแบบร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของกลุ่ม ซี.พี.

ปัจจุบันได้สร้างช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.เสร็จแล้ว เป็นงานถมคันดิน มีกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 44% ล่าช้า 56% ติดส่งมอบพื้นที่ จะขยายสัญญา 270 วัน

ล่าสุดได้เซ็นสัญญา 5 สัญญา วงเงิน 40,275.33 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างในต้นปี 2564 ได้แก่ 1.สัญญา 3-2 อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง 4,279 ล้านบาท 2.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 21.6 กม. มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้ก่อสร้าง 9,838 ล้านบาท

3.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ก่อสร้าง 9,848 ล้านบาท 4.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK เป็นผู้ก่อสร้าง 7,750 ล้านบาท และ 5.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย 12.99 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง ก่อสร้าง 8,560 ล้านบาท

“ทั้ง 5 สัญญา ช่วงภาชี-โคราช ซึ่งบอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว เหลือช่วงบางซื่อ-ภาชี มีปรับ EIA รอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมัติ และขอความเห็นชอบจากกรมศิลปากร เพราะปรับ EIA เกิดจากเปลี่ยนแบบสถานีอยุธยา ให้มาใช้แบบก่อสร้างเดิมที่ไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมสถานี ซึ่งบริเวณนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ซึ่งยังไม่ผ่านการอนุมัติทำให้การเซ็น 6 สัญญาที่เหลือ วงเงิน 56,488.16 ล้านบาทล่าช้า”

สำหรับ 6 สัญญา ได้แก่ 1.สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และ ปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ของ บจ.ไทยเอ็นจิเนียริ่ง 9,330 ล้านบาท 2.สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ซิโนไฮโดร จำกัด, บจ. สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท

3.สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร – บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ของกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ และ บจ.เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) 11,525.36 ล้านบาท

4.สัญญาที่ 4-4 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงิน 7,664 ล้านบาท ของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ วงเงิน 6,573 ล้านบาท

5.สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 9,913 ล้านบาท

และ 6.สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว – สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. ของบมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น วงเงิน 9,429 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากความล่าช้าของงานก่อสร้าง ค่ดว่าจะกระทบต่อไทม์ไลน์เปิดบริการ จากปัจจุบันตั้งเป้าในปี 2568