ยุทธพงศ์ ซัด “ประยุทธ์-อนุพงษ์” ต่อสัมปทานสายสีเขียวขัดมติ ครม. เลี่ยงร่วมทุน 

“โจ้-ยุทธพงศ์” ส.ส.เพื่อไทย เปิดฟลอร์อภิปราย ฉายหนังซ้ำรสัมปทานถไฟฟ้าสายสีเขียว ซัด”ประยุทธ์-อนุพงษ์”เอื้อเจ้าสัว BTS เลี่ยงไม่ทำตามมติครม.-พ.ร.บ.ร่วมทุน

เมื่อเวลา 19.17 น. ที่รัฐสภา เกียกกาย นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย  กล่าวอภิปรายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ขอใข้ชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า “มหากาพย์การโกงข้ามศตวรรษ จากบ้านหลวงสู่ม.44 ยกสัมปทานรถไฟฟ้าให้เจ้าสัว” 

เนื่องจากการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) เป็นการกระทำที่หลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 และขัดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 

ขุด “อดีตผู้ว่าฯกทม.” จ้างเดินรถเลี่ยงร่วมทุน

ประเด็นแรก การทำผิด พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ชัดเจนว่า การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จงใจที่จะเลี่ยงการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ในขั้นแรก สมัยม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ว่าจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช – แบริ่ง และช่วงตากสิน – วงเวียนใหญ่ โดยไม่ผ่านการทำตามกระบวนการ พ.ร.บ.ร่วมทุนในยุคนั้น ปี 2555 มีอายุสัญญา 30 ปียาวถึงปี 2585 คิดเป็นวงเงินรวม 187,800 ล้านบาท 

ประเด็นนี้พรรคเพื่อไทยได้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อปี 2556 แล้ว ซึ่งอยากให้ช่วยดูกันด้วยว่า ประเด็นนี้อาจจะมีการเป่าคดีได้

นอกจากนั้น ในปี 2559 สมัยม.ร.ว.สุขุมพันธ์เช่นกัน ได้ให้เคทีจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายช่วงเหนือหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงใต้แบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ 

“ทั้งๆที่ในตอนนี้ส่วนต่อขยายดังกล่าว การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังเป็นเจ้าของโครงการส่วนต่อขยายดังกล่าวอยู่ ทำเป็นสัญญาล่วงหน้า 160,000 ล้านบาท “

ซึ่งเมื่อปี 2552 ได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่า ทั้งส่วนเหนือ-ใต้เข้าตามหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ ทางกฤษฎีกาตอบมาแล้วว่า เข้ากระบวนการ ดังนั้น การทำแบบนี้จึงเป็นการเลี่ยงพ.ร.บ.ร่วมทุนอย่างเห็นได้ชัด 

ชี้กู้เงินคลังได้- ค่าโดยสารแพงไป

ส่วนการไม่ทำตามมติครม.เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 ได้แก่  1. การไม่ยอมกู้เงินจากกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาชำระหนี้ที่รับโอนและเดินรถส่วนต่อขยาย แต่ใช้วิธีการยกหนี้แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานให้ BTSC แทนซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน 

เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีส่วนไข่แดงคือช่วงหลักหมอชิต – อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ที่ทำกำไรให้มหาศาล ซึ่งหากหมดสัมปทานปี 2572 แล้วตกเป็นของ กทม. ก็จะสามารถบริหารค่าโดยสารได้ โดยที่ประชาชนไม่ต้องแบกรับค่าโดยสารราคาแพงถึง 104 บาท

“จะแน่ใจได้อย่างไรว่า หากไม่ทำตามพ.ร.บ.ร่วมทุน จะไม่มีใครเข้ามาแข่งขัน เพราะประเทศนี้มีเจ้าสัวที่มีศักยภาพจะเข้าแข่งขันเยอะทั้ง ซี.พี., เครือไทยเบฟเวอเรจ, บมจ.ซิโน-ไทยฯ หรือแม้แต่บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ก็เข้าแข่งได้”

และ 2. รัฐบาลจะต้องดูแลให้ค่าโดยสารมีความเหมาะสม การที่ กทม. กำหนดค่าโดยสารอัตราใหม่ 104 บาทเหมาะสมหรือไม่ ส่วนการอ้างว่าที่กำหนดราคานี้เพื่อใช้หนี้เดินรถให้ BTSC วงเงิน 9,000 ล้านบาทนั้น เป็นการจัดฉากสร้างหนี้เดินรถเท่านั้น เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ BTSC จึงอยากถามว่านายคีรี กาญจนพาสน์ วิเศษมาจากไหน จึงต้องต่อให้ BTSC เพียงรายเดียว

นายยุทธพงศ์กล่าวต่อไปว่า  เชื่อว่าหลังจากนี้ พลเอกประยุทธ์ได้ไปศาลรัฐธรรมนูญแน่ เพราะกระทำความผิดตามมาตรา 184  เพราะไม่มีความซื่อสัตย์ และการดำเนินการไม่หลักวินัยการเงินการคลัง รวมถึงไม่ยึดถือปฏิบัติตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดีด้วย และอาจจะผิดตามมาตราอื่นด้วย

ทางออกของประเด็นนี้ ควรรอให้หมดสัมปทานปี 2572 แล้วจากนั้น กทม.อาจจะพิจารณาขายคืนให้รฟม. ก็ได้ เพราะรฟม.บริหารเป็น และอยู่ใต้กระทรวงคมนาคม ซึ่งมีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ด้วย