กรมทางหลวง-การยางเซ็น MOU ใช้ยางพาราทำเสาหลักกิโลเมตรทั่วประเทศ 1.3 แสนต้น เริ่ม ก.ค.61

กรมทางหลวงจับมือการยางฯ นำร่องใช้ยางพาราแปรรูปเป็นเสาหลักนำทาง 1.3 แสนต้น ก.ค.61 เตรียมขยายทำแบริเออร์ ที่กั้นขอบทาง – ทางเท้า

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค.60 กรมทางหลวงได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนา และการส่งเสริมการใช้ยางพาราร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลให้กรมใช้ยางพาราน้ำ จำนวน 9,000 ตันต่อปี ซึ่งกรมจะใช้ในรูปแบบพาราสลาลี่ซีล และพาราแอสฟัลท์ จำนวน 5% และมีค่าใช้จ่ายสูง ในปี 2561 ใช้ในการฉาบผิวถนนไปแล้ว 1,000 ตัน อีก 8,000 ตัน หากนำมาใช้แบบเดิมจะมีค่าใช้จ่าย 4,000 ล้านบาท ทางกรมจึงได้หารือร่วมกับการยาง เปลี่ยนยางพาราน้ำเป็นแผ่น ใช้กับเสาหลักนำทาง ที่กั้นขอบทาง ทางเท้า และหลักกิโลเมตร

“เบื้องต้นที่ทำเร็วคือเสาหลักนำทางใช้ยางประมาณ 15 กิโลเมตรต่อ 1 ต้น งบในการจัดซื้อยางจากงบเหลือจ่ายไม่เกิน 500 ล้านบาท ตั้งเป้าปีนี้ใช้ประมาณ 120,000-130,000 ต้นทั่วประเทศ ต้นทุนต่อต้นประมาณ 2,600-2,700 บาท จากเดิมหลักคอนกรีต 800 บาทต่อต้น ต้นทุนแพงกว่าแต่สามารถช่วยรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรได้มากว่าเดิม” นายธานินทร์กล่าวและว่า

หลังจากนี้ ให้การยางฯประสานสหกรณ์ชุมชน เข้ามาร่วมประกวดราคาคาดว่าลงนามไม่เกิน 6 เดือน หรือ ก.ค.61 น่าจะติดตั้งทั่วประเทศ ในพื้นที่มืด และทางโค้ง

นอกจากนี้ ในอนาคตจะขอความร่วมมือการยางฯในการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้ยางพารา เช่น แบริเออร์ก่อสร้างที่ใช้ยางพาราไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตร ที่กั้นขอบทาง และทางเท้า อีกทั้งยังเตรียมหารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณให้สามารถบรรจุการซื้อยางพาราในงบประมาณประจำปีด้วย

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ขอบคุณกรมทางหลวงที่เป็นหน่วยงานแรกที่มีการผลักดันนโยบายใช้ยางกับงานภาครัฐจริงๆ เบื้องต้นทางกรมใช้กับเสาหลักนำทาง และอีกหลายผลิตภัณฑ์

อย่างที่ทราบไทยส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ในเรื่องวัตถุดิบส่งออก ส่งออก 80% ใช้ในประเทศ 10% หากเกิดสถานการณ์ผันผวนกลไกโลก จะทำให้การส่งออกมีปัญหา จึงต้องส่งเสริมให้ในประเทศใช้ยางพารา 30% ภายใน 3 ปี ด้วยการแปรรูปผลิตภัณฑ์และใช้ในงานภาครัฐ