กทม.อัดยาแรงคุมแคมป์คนงาน ย้ำ กม.ฉุกเฉินโทษจำคุก 2 ปี-ปรับ 4 หมื่น

Photo by AFP

เวลาไม่ถึง 1 เดือน โรคระบาดสร้างปัญหาคลัสเตอร์โควิดในมหานครกรุงเทพเพิ่มเป็นเท่าตัว จาก 39 คลัสเตอร์ เพิ่มเป็น 70 กว่าคลัสเตอร์

หนึ่งในพื้นที่เสี่ยง นอกจาก “ตลาด-ชุมชน-สถานประกอบการ” แล้ว ปัญหาคลัสเตอร์โควิดจากแคมป์คนงานก่อสร้างก็เป็นเผือกร้อนก้อนโต เพราะควบคุมได้ลำบากมาก จากปัจจัยความซับซ้อนของลักษณะงานที่อยู่ในไซต์ก่อสร้าง

ที่แน่ ๆ “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ที่มีสถิติแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง กระจายอยู่ใน 50 เขต 180 แขวง มากบ้างน้อยบ้างตามความเจริญของทำเล ต้องทำงานแข่งกับเวลา

22 พ.ค. 64 ประกาศคุมแคมป์

ย้อนเวลากลับไปไม่นาน คลัสเตอร์โควิดในแคมป์คนงานก่อสร้างปรากฏตัวเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นจากแคมป์ในเขตหลักสี่ จากนั้นเหมือนน้ำลดตอผุด เพราะมีการสุ่มตรวจโดยทั่วไป และเข้าตำรา ยิ่งตรวจยิ่งเจอ

ต่อมา “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศ กทม. วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ว่าด้วยมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด สาระสำคัญเน้นคุม 3 จุดเสี่ยงสูง ได้แก่ “ตลาด-สถานประกอบการ Call Center-แคมป์คนงานก่อสร้าง”

โฟกัสไปที่แคมป์คนงานก่อสร้างซึ่งควบคุม 4 มาตรการ ได้แก่ 1.นายจ้าง/ผู้ประกอบการ 2.คนงาน/คนในครอบครัว 3.การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตในกรุงเทพฯ และ 4.การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด (กรุงเทพฯกับปริมณฑล)

ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์

7 มิ.ย.เพิ่มคำสั่ง “ทำทันที”

ล่าสุด ปลัดกรุงเทพมหานคร “ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์” ลงนามหนังสือสั่งการด่วนที่สุดไปยังผู้อำนวยการเขต 50 เขต ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2564 มาตรการ “ป้องกัน เฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ และควบคุมโรคอย่างทันท่วงที” ให้ดำเนินการ 3 ข้อ 1.ให้เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคในแคมป์คนงานก่อสร้างที่เป็นมาตรการเพิ่มเติม

2.ประสานตำรวจและฝ่ายความมั่นคงร่วมตรวจแคมป์ตามแผนงานที่เขตกำหนด

และ 3.ตรวจติดตามการปฏิบัติตามประกาศ กทม.วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ในแคมป์คนงานก่อสร้างทุก 2 สัปดาห์ รายงานผลให้สำนักอนามัยทราบเป็นประจำทุกวัน เพื่อรวบรวมรายงานต่อไปยังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ต่อไป

คุมเข้มตลอดเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้ เพิ่มเติมมาตรการควบคุมโรคอย่างทันท่วงทีในแคมป์คนงานก่อสร้างหรือมาตรการแคมป์ของสำนักอนามัย กทม. วางการทำงานตามกรอบเวลาเป็น 2 ช่วง คือการเฝ้าระวัง 1 เดือน ในเดือนมิถุนายน 2564 กับการเฝ้าระวังทุก 2 เดือน

สำหรับการเฝ้าระวังโรคในกรอบเวลาเดือนมิถุนายน 2564 มีรายละเอียดดังนี้ 1.ให้สำนักงานเขต/สำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม/สำนักการโยธา ตรวจหาเชื้อในน้ำทิ้งในบริเวณที่พัก 2.ให้สำนักงานเขต/ศูนย์บริการสาธารณสุข สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อวิธี RT-PCR แห่งละ 75 ราย โดยดำเนินการตรวจทุกแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีคนงานมากกว่า 100 คนในพื้นที่

การควบคุมโรคมีขั้นตอนดังนี้ 1.สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขตสุ่มตรวจหาเชื้อในแรงงาน 75 ราย หากพบผู้ติดเชื้อ 2 รายขึ้นไป หรือมากกว่า 5% แนวทางปฏิบัติเริ่มจาก 1.1 ให้สำนักงานเขตประสานแคมป์คนงานก่อสร้าง นำส่งผู้ป่วยแยกกักรักษา และกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1.2 ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขสอบสวนโรคและค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1.3 ให้สำนักการแพทย์นำส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่การแยกกักรักษา

2.สำนักอนามัยร่วมกับสำนักงานเขตตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หากพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10% แนวทางปฏิบัติคือ 2.1 ให้สำนักงานเขตในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งให้แคมป์คนงานก่อสร้างนั้นเป็นพื้นที่เอกเทศ ห้ามคนงานเข้าออกจากพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน และให้จัดทำมาตรการ Bubble and Seal

ทั้งนี้คนงานก่อสร้างสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยให้นายจ้างเป็นผู้จัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้กับคนงาน

2.2 ให้สำนักการแพทย์นำส่งผู้ติดเชื้อเข้าสู่การแยกกักรักษา 2.3 ให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมพื้นที่แยกกัก กักกัน สำหรับผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง 2.4 ให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของสถานประกอบการ (จป.) ทำหน้าที่สังเกตแรงงานที่มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ตาแดง หรือมีผื่นขึ้น ให้นำส่งตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล

2.5 ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขสอบสวนโรคและนำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปตรวจหาเชื้อ และ 2.6 ให้ฝ่ายปกครอง/ฝ่ายความมั่นคง/เทศกิจ กำชับ กวดขัน การดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal

สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคทุก 2 เดือนหลังจากนี้ ให้สำนักงานเขต/ศูนย์บริการสาธารณสุข สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แห่งละ 75 ราย โดยตรวจทุกแคมป์คนงานก่อสร้างที่มีคนงานมากกว่า 100 คนในพื้นที่

นิยาม 9 คำศัพท์โควิด

นอกจากนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน สำนักอนามัย กทม.ได้กำหนดคำนิยามเกี่ยวกับโควิดดังนี้

“ACF-Active Case Finding” หมายถึง การค้นหาเชิงรุกที่ขยายวงให้ครอบคลุมชุมชนที่ผู้ป่วยใช้ชีวิตหรืออาศัยอยู่ เช่น ในตลาด ชุมชน หรือแคมป์คนงานก่อสร้างเดียวกันกับผู้ป่วย โดยไม่จำกัดเพียงผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

“SS-Sentinel Surveillance” หมายถึง การเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยจัดให้มีแผนเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบแนวโน้ม และตรวจจับการระบาดได้ทันท่วงที

“Bubble and Seal” หมายถึง การควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมเฉพาะ สามารถทำกิจกรรมหรือทำงานได้ เดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานได้ ภายใต้การควบคุมกำกับ รวมถึงมีการบริหารจัดการแยกผู้ป่วยติดเชื้อ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดสิ่งอำนวยความสะดวกเครื่องอุปโภค บริโภค และมีการวางแผนการจำหน่ายออก

“บับเบิล” คนงานพักใกล้ไซต์

โดย “Bubble” หมายถึง การควบคุมแรงงานก่อสร้างที่ไม่ได้พักอาศัยในไซต์ก่อสร้าง และมีที่พักหรือห้องเช่าไม่ไกลกับไซต์ก่อสร้าง แรงงานต้องเดินเท้าไป-กลับทุกวัน อาจต้องเดินผ่านชุมชนไม่มีรถรับส่ง

ให้หัวหน้างานควบคุมกำกับให้แรงงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาที่เดินผ่านชุมชน ห้ามแวะระหว่างทาง และให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ของสถานประกอบการ กำกับคนงานให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค (D-M-H-T-T) ตลอดเวลาทำงานและช่วงพัก รวมทั้งเฝ้าระวังอาการเจ็บป่วย โดยสังเกตอาการระบบทางเดินหายใจ ตาแดง มีผื่น มีน้ำมูก ท้องเสีย เป็นต้น หากพบคนงานมีอาการป่วยให้นำส่งตรวจที่โรงพยาบาล

“Seal” หมายถึง การควบคุมแรงงานที่มีแคมป์คนงานอยู่บริเวณเดียวกันกับไซต์ก่อสร้าง ในกรณีที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10% ของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สำนักงานเขตในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งให้แคมป์นั้นเป็นพื้นที่เอกเทศ ห้ามคนงานก่อสร้างเข้าออกพื้นที่เป็นเวลา 14 วัน คนงานก่อสร้างทำงานได้ตามปกติ โดยให้นายจ้างเป็นผู้จัดหาอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้กับคนงาน

“ซีลรูท” มีรถรับ-ส่งคนงาน

“Seal Route” หมายถึง การควบคุมแรงงานที่ไม่ได้พักอาศัยในไซต์ก่อสร้าง แรงงานต้องเดินทางไป-กลับด้วยรถรับส่งทุกวัน นายจ้างต้องควบคุม กำกับให้เป็นไปตามมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้าง

“Camp Quarantine” หมายถึง การกำหนดพื้นที่เอกเทศภายในแคมป์สำหรับกักกันแรงงานสัมผัสเสี่ยงสูง โดยมีมาตรการป้องกันควบคุมโรค มีการแยกผู้ติดเชื้อ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอุปโภคบริโภค และมีการวางแผนจำหน่ายออก

“Camp Isolation” หมายถึง การจัดให้มีพื้นที่เอกเทศในแคมป์สำหรับผู้ติดเชื้อ กรณีมีความจำเป็นต้องจัดโรงพยาบาลสนามในแคมป์คนงาน โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่ต้องการออกซิเจน เป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอการเคลื่อนย้าย หรือกลับมาจากโรงพยาบาล

รพ.สนาม = ไม่ใช้ออกซิเจน

“AS-Active Survey” หมายถึง การสำรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาการติดเชื้อหรือการป่วยในกลุ่มเสี่ยงหรือมีโอกาสพบผู้ป่วย โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยหลักทางสถิติ เพื่อให้ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือเพื่อทราบระดับความชุกของการติดเชื้อ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการเมื่อมีความจำเป็น โดยไม่จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง

“Community Quarantine” หมายถึง กำหนดพื้นที่เอกเทศภายในชุมชนสำหรับกักกันผู้สัมผัสไม่ให้ออกจากพื้นที่ เช่น หอพัก คอนโดมิเนียม มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคภายในชุมชน มีการแยกผู้ติดเชื้อ บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งอุปโภคบริโภค และมีการวางแผนการจำหน่ายออก

“Community Isolation” หมายถึง การจัดให้มีพื้นที่เอกเทศในชุมชนสำหรับผู้ติดเชื้อ กรณีมีความจำเป็นต้องจัดโรงพยาบาลสนามในชุมชน โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่ต้องการออกซิเจน เป็นผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างรอการเคลื่อนย้าย หรือกลับมาจากโรงพยาบาล

ย้ำฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศ กทม.ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 และหนังสือสั่งการผู้อำนวยการ 50 เขต ระบุแนวทางปฏิบัติหากพบผู้ประกอบการฝ่าฝืนประกาศ กทม. อาจมีความผิด 2 กฎหมายด้วยกัน คือ

1.พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 51 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และ 2.พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มาตรา 18 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ