แคมป์คนงานก่อสร้างตั้งการ์ดสูง ห้ามขนย้ายแรงงาน-เร่งฉีดวัคซีน

Photo by Romeo GACAD / AFP

สำรวจงานก่อสร้างโปรเจ็กต์รัฐ-อสังหาฯยังไปต่อได้ “ทางด่วน-รถไฟฟ้า” แจงกลุ่มรับเหมาก่อสร้างคุมเข้มแรงงานในแคมป์ ห้ามขนย้ายแรงงานเด็ดขาด เน้นปรับสุขอนามัย เลิกอาบน้ำบ่อรวม ติดฝักบัวห้องน้ำคนงาน “แสนสิริ-แอล.พี.เอ็น.ฯ” ตั้งการ์ดสูง กลุ่มพรีบิลท์ขอวัคซีนแรงงานก่อสร้างกันโควิดลาม

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานก่อสร้างมีเพียงโครงการเดียวคือ ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ช่วงเซ็นทรัลพระราม 2-รพ.บางปะกอก 9 ระยะทาง 5.3 กม. วงเงิน 6,440 ล้านบาท มีกลุ่มไชน่า ฮาร์เบอร์ฯ-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เป็นผู้ก่อสร้าง

สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 8 ช่องจราจร และงานก่อสร้างทางด่วน 6 ช่องจราจร 2 กม. มี บมจ.ช.การช่าง ก่อสร้าง วงเงิน 6,636 ล้านบาท ทั้งหมดยังเดินหน้าตามแผน โดยเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยการซีลพื้นที่ก่อสร้าง ไม่ขนย้ายแรงงาน

“งานก่อสร้างคืบหน้าเร็วกว่าแผน ส่วนงานประมูลที่เหลืออีก 2 สัญญา จะประกาศทีโออาร์บนเว็บไซต์ของ กทพ.ในเดือน มิ.ย.นี้”

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า งานก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ณ สิ้น พ.ค. 2564 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสายสีส้ม, สายสีเหลือง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี

โดยสั่งการให้ผู้รับสัมปทานและผู้รับจ้างประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ปัญหา และเน้นย้ำที่ปรึกษา ห้ามแรงงานเดินทางออกนอกพื้นที่, ห้ามขนถ่ายแรงงานไปยังพื้นที่เสี่ยง, จัดการเรื่องสุขอนามัยในที่พัก เปลี่ยนระบบอาบน้ำจากใช้บ่อรวมเป็นห้องฝักบัว รวมถึงการรับส่งแรงงานจะไม่จอดระหว่างทางเด็ดขาด

นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แสนสิริเน้นบริหารจัดการแคมป์คนงานก่อสร้างตามมาตรการควบคุมและป้องกันของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยผู้รับเหมารายงานว่า ยังไม่พบคนงานติดโควิด ดังนั้น ไทม์ไลน์งานก่อสร้างและส่งมอบยังไม่เปลี่ยนแปลง

“สถานการณ์โควิดคาดการณ์ไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวตลอดเวลา วัคซีนเริ่มเข้ามาแล้ว วันนี้เราป้องกันได้ค่อนข้างดี”

นายวิโรจน์ เจริญตรา กรรมการผู้จัดการ บมจ.พรีบิลท์ เปิดเผยว่า พรีบิลท์มีคนงาน 4,000 คน รันงานก่อสร้าง 10 ไซต์ ทำเลแนวรถไฟฟ้าในเมือง ล่าสุดมี 1 ไซต์ ที่มีคนงานติดโควิด สาเหตุจากผู้ติดเชื้อ 1 คน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันทำให้ระบาดเป็น 100 คน สิ่งที่อยากขอรัฐบาลคือ ขอวัคซีนฉีดให้กับแรงงานก่อสร้าง เพราะเป็นระเบิดเวลาที่จะเป็นคลัสเตอร์ใหม่ เป็นจุดเสี่ยงที่รัฐต้องให้ความสำคัญ

ขณะที่การก่อสร้างแม้เจอปัญหาโควิดบ้าง แต่จำนวนคนงานยังเพียงพอในการเดินหน้าต่อไป โดยบริหารจัดการตามสถานการณ์หน้างาน เช่น เพิ่มโอที วางแผนงานให้เหมาะสม ฯลฯ

“โควิดทำให้เราทำงานได้ช้าลง แต่ก็ไม่ได้รับคนใหม่ เพราะคนเก่ายังเพียงพอ เรามีวิธีเร่งงาน ตอนนี้ในแคมป์ทุกคนระวังตัวเอง เน้นปรับตามมาตรฐานข้อกำหนดรัฐ โดยรวมมีต้นทุนเพิ่ม 1-2% ฉะนั้น การประมูลโครงการใหม่ ๆ อาจต้องบวกเพิ่มด้วยเหตุสุดวิสัย เช่น โรคระบาดไว้ด้วย”

นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ หรือ LPN กล่าวว่า ไซต์ก่อสร้างมี 10-20 ไซต์ คนงาน 3,000 คน ยังไม่พบแรงงานติดเชื้อ งานก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ที่ผ่านมาบริษัทเน้นเชิงรุกป้องกันโรคระบาดในแคมป์เป็นหลัก

“เคสของ LPN กับผู้รับเหมา เราเรียกว่า LPN Team ทำงานกันมานานเกิน 30 ปี เหมือนเป็นบริษัท
ในเครือ เรื่องความเข้มงวดจึงเข้าใจกันดี” นายสุรวุฒิกล่าว