ท้องถิ่นอ่วมพิษโควิด อปท.จี้รัฐชดเชยภาษีที่ดิน 2.2 หมื่นล้าน

ท้องถิ่นอ่วมพิษโควิด-รัฐลดภาษีที่ดิน 2 ปีรวด ทวงจ่ายเงินชดเชย 2.2 หมื่นล้านที่ค้างตั้งแต่ปี 2563 เผย อปท.กว่า 6.6 พันแห่งรายได้วูบ กทม.มีปัญหาหนักสุดจัดเก็บภาษีที่ดินลดลง 7.6 พันล้าน ด้านเอกชน 3 สถาบันรุกหนักร่อนหนังสือถึงกระทรวงการคลังจี้ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึงสิ้นปี 2565

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่กระทรวงมหาดไทยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาหาแนวทางในการชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะหลังประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กับภาษีบำรุงท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวนมากรายได้ลดน้อยลง

ล่าสุด ที่ประชุม ก.ก.ถ.เห็นชอบให้มีการชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลที่ยังไม่ได้รับชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปรวม 22,030 ล้านบาท ตามจำนวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ลดลงจริง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ

หมื่นล้านชดเชย อบต.

โดยเฉพาะปี 2563 อปท.ได้รับผลกระทบส่งผลให้รายได้ลดลง 32,585 ล้านบาท ซึ่งเสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณช่วยเหลือชดเชยเต็มจำนวน โดยจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 แต่เนื่องจากในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาต่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ได้เห็นชอบการแปรญัตติงบประมาณอุดหนุนสำหรับชดเชยรายได้ให้แก่เทศบาลตำบล และ อบต.ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวม 10,067 ล้านบาท เหลือวงเงินที่ต้องชดเชย 22,517 ล้านบาท

อปท. 6.6 พันแห่งรายได้ลด

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ได้ประมาณการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปีงบประมาณ 2563 โดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บรายได้จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ประจำปีงบประมาณ 2563 พบว่า จากจำนวน อปท.ทั้งหมด 7,776 แห่ง ปรากฏว่ามี อปท. 6,631 แห่ง รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดน้อยลง 1.78 หมื่นล้านบาท

ในจำนวนนี้ กทม. รายได้ลดลงมากที่สุด 7.66 พันล้านบาท เมืองพัทยา ลดลง 262 ล้านบาท องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) 2.87 พันล้านบาท เทศบาลตำบล รายได้ลดลง 2.83 พันล้านบาท เทศบาลเมือง รายได้ลดลง 2.10 พันล้านบาท และเทศบาลนคร รายได้ลดลง 2.12 พันล้านบาท ส่วน อปท.ที่มีรายได้เพิ่มขึ้น มี 1,122 แห่ง ส่วนที่รายได้เท่าเดิมมี 23 แห่ง

วูบ 5.3 หมื่นล้านพิษโควิด

สาเหตุที่ อปท.ส่วนใหญ่มีรายได้ลดน้อยลง นอกจากเป็นผลมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งยังมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินฯ

อย่างปี 2563 ที่ผ่านมาได้ปรับลดภาษีที่ดินลง 90% ของอัตราที่ต้องจ่ายจริง จัดเก็บภาษีในอัตราเพียง 10% ของที่ต้องจ่ายจริงเท่านั้น เทียบกับประมาณการที่กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงมหาดไทย คาดว่า อปท.จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวม 115,990 ล้านบาท แต่ลดลงเหลือ 62,648 ล้านบาท โดยรายได้ลดลง 53,341 ล้านบาท

ดังนั้นถ้ารัฐบาลยังมีนโยบายคงรายได้สุทธิของ อปท.ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลที่ 29.43% จะต้องอุดหนุนเงินเพิ่มให้ อปท.เท่ากับรายได้ที่ลดลง 53,341 ล้านบาท

คลังรับข้อเสนอ-ยืดลดภาษีที่ดินฯ

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้รับทราบข้อเสนอคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ในปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2565) แล้ว ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เนื่องจากการลดภาษีที่ดินดังกล่าวมีผลกระทบค่อนข้างมากต่อการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น

ชี้มีทั้งได้ประโยชน์-ถูกกระทบ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการออกมาตรการลดภาษีที่ดินฯนั้น กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อเสนอการชดเชยรายได้ให้กับท้องถิ่นไปที่ ครม.ทุกครั้ง บางส่วนได้รับการชดเชยไปแล้ว แต่การลดภาษีที่ดินฯในปี 2564 ท้องถิ่นยังไม่ได้รับการชดเชย ฉะนั้น ในการพิจารณาออกมาตรการดังกล่าว ต้องหาความสมดุลในการพิจารณาให้ดี เพราะมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบ

“ปกติเวลาที่เราทำมาตรการลดภาษีที่ดินฯ ก็เสนอ ครม.ว่าขอให้มีการชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น แต่ตัวเม็ดเงินจริงที่ท้องถิ่นได้รับการชดเชยยังไม่เป็นตามที่เราเสนอ 100% เนื่องจากมีข้อจำกัดหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งหากจะมีการขยายเวลามาตรการลดภาษีที่ดินออกไปอีก เราต้องดูเรื่องนี้ให้รอบคอบ เพราะการออกมาตรการมีทั้งผลดีและผลลบ มีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีการขยายเวลาลดภาษีที่ดินฯตามข้อเสนอเอกชนหรือไม่”