“กานต์ ตระกูลฮุน” ไทยแลนด์ 4.0 เร่งลงทุนพื้นที่ EEC บูมเศรษฐกิจประเทศ

หลังหมดวาระงานที่ “เอสซีจี” เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 ปัจจุบัน “กานต์ ตระกูลฮุน” ในวัย 62 ปี ได้รับความไว้วางใจจาก “รัฐบาล คสช.” ให้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนงาน ทั้งเป็นประธานโครงการสานพลังประชารัฐ รวมถึงเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอีกหลายชุด

ไม่ว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “กานต์” ขึ้นเวทีสัมมนา “ประเทศไทย 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ปาฐกถาพิเศษ New S-Curve ขับเคลื่อนประเทศไทย

“กานต์” เริ่มฉายภาพของประเทศไทย กลั่นจากประสบการณ์จริงที่มีโอกาสร่วมงานกับรัฐบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นทั้งปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ในระบบราชการ คณะกรรมการใน 20 คณะที่แอ็กทีฟจริง ๆ เป็นคณะที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เช่น พัฒนาระบบนวัตกรรม ไอทีแห่งชาติ ชุด ปยป.

“3-4 ปีที่ผ่านมา เห็นการทำงานของรัฐบาลและประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงไปในแง่เศรษฐกิจ ซึ่งอาเซียนเปลี่ยนแปลงชัดเจนมาก ผมเองสมัยอยู่เอสซีจี เซตวิสัยทัศน์ 2 เรื่องเท่านั้นเอง คือ ลงทุนในอาเซียน และเทคโนโลยีอินโนเวชั่น วันนี้ก็เห็นชัดแล้วในอาเซียน”

สิ่งที่จะเกิดขึ้นนั่นคือความเข้มแข็งของประเทศ จริง ๆ คือ ความเข้มแข็งของภาคเอกชนนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นส่งสินค้าออกไปจากประเทศไทย การรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ต้องแข่งขันกันทั้งนั้น ซึ่งระบบภายในของประเทศการบริการเป็นแฟกเตอร์ที่ใหญ่มาก

เรื่องขีดความสามารถการแข่งขัน มี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง อันดับแรก คือ ภาครัฐ มีหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ซึ่งประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วม และการจัดอินฟราสตรักเจอร์ที่ทันสมัย อัพเดต และเพียงพอ เห็นได้ชัดหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ใช้ระบบรางแค่ 2% ทางน้ำ 15% ที่เหลือ 70-80% เป็นทางถนนกับเครื่องบิน ซึ่งประเทศไทยมีทางรถไฟมหาศาลตั้งแต่ 100 กว่าปีที่ผ่านมา

แต่วันนี้กำลังเกิดรถไฟทางคู่มาเพิ่มความรวดเร็วให้การเดินทางและขนส่งสินค้า ขณะนี้มี 2 โครงการกำลังก่อสร้าง อีก 5 โครงการจะเริ่มเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 10 สายทาง ที่จะออกไป 30 กม. จากดาวน์ทาวน์ เชื่อว่าในอนาคตเมื่อเปิดบริการครบแล้ว ทำให้คนใช้รถยนต์น้อยลง ลดปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งอินฟราสตรักเจอร์แบบนี้มีมูลค่า

ที่เห็นชัด ๆ เลย คือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีส่วนร่วมทำโครงการด้วย นับเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศไทย มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ-ระยอง และเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา สามารถเดินทางถึงที่หมายใน 40-45 นาที คล้ายสนามบินนาริตะเข้าไปโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

หากโครงการนี้เป็นไปได้จะเกิดความเชื่อมโยงของธุรกิจมหาศาล ในส่วนของสนามบินอู่ตะเภาจะลงทุนสร้างรันเวย์เพิ่ม 2 แห่ง จะเกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงท่าอากาศยาน (MRO)

ซึ่งมีบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว แต่อุตสาหกรรมเก่ายังดำเนินต่อไป ใน 10 ปีข้างหน้า อู่ตะเภาจะเป็นสนามบินขนาดใหญ่อีกแห่งต่อจากสุวรรณภูมิ

“อีอีซีเป็นด่านสำคัญที่รัฐและเอกชนต้องร่วมกันผลักดัน เรื่องอินฟราสตรักเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมทั้งกฎระเบียบด้านกฎหมายก็สำคัญ ที่ต้องมีการปรับแก้ไขหลายส่วน ขณะนี้กำลังปรับแก้กฎหมายอีอีซีเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว อีสเทิร์นซีบอร์ดอาจจะเน้นอุตสาหกรรม แต่วันนี้อีอีซีนอกจากอุตสาหกรรม มีการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยว พัฒนาท่าเรือเฟอรี่ด้วย”

อยากให้เอกชนมาลงทุนเพราะเป็นโอกาสที่ดี มีสิทธิประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะการลงทุนที่อาศัยนวัตกรรม หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ไทยไม่น้อยหน้าประเทศไหนในโลกเลย ภาษีรายได้ส่วนบุคคลปกติจ่าย 35% จะปรับลดลง 10-15% ดึงคนเก่ง ๆ เหล่านี้ให้มาอยู่ในประเทศไทย มาช่วยกำกับ มาช่วยชี้แนะให้เดินไปได้ รัฐบาลต้องปรับระบบงานให้เอื้อต่อการลงทุนและปฏิบัติธุรกิจ

ล่าสุดไทยได้รับการปรับระดับชั้นการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ จากปีที่แล้วอันดับ 46 เป็นอันดับที่ 26 ต้องยกเครดิตให้หลายหน่วยงาน เอกชนหลายภาคส่วนเข้าไปช่วยปรับกระบวนการให้ดีขึ้น ซึ่งการประชุมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 มีภาคเอกชน 15-16 ท่าน เข้าร่วมมากกว่าภาครัฐ มีเรื่องระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะปรับให้กระบวนการเร็วขึ้น ปลดล็อกหลายเรื่อง รวมทั้งธุรกิจด้านไอที มีผู้ขอทำสัญญาค้างกว่า 30,000 ฉบับ ความสามารถในอดีตทำได้ปีละ 1,500-2,000 ฉบับ กรมที่ดินจะออกกฎระเบียบใหม่ๆ ตัดขั้นตอนต่าง ๆ จะเคลียร์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2562

“ตั้งเป้าไว้ปีถัดไปเราน่าจะได้รับการจัดอันดับที่ดีกว่ามาเลเซีย วันนี้ในอาเซียนที่ 1 คือ สิงคโปร์ ที่ 2 คือ มาเลเซีย และที่ 3 คือ ไทย หรือไทยอาจจะติด 1 ใน 10 ก็ได้”

อีกส่วนจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญมาก ๆ คือ เรื่องดิจิทัล รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้วางรากฐานไว้ที่ครอบคลุมพอสมควร เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งประเทศในอาเซียนทั้งหมดคือลูกค้าเรา ไม่ว่าเขาจะไม่มาลงทุนในไทย ขอให้ลงทุนอยู่ในอาเซียน เพราะเพื่อนบ้านเราดีขึ้น เขาก็คือลูกค้าของเรา ต้องไปด้วยกัน

โอกาสต่าง ๆ ที่เริ่มมองเห็นชัด คือ การลงทุนของภาคเอกชน อยากให้เน้นการลงทุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ตัวเลขต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น ตัวเลขการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ขยับจาก 0.2% ของจีดีพี หรือประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท เมื่อช่วง 30-40 ปีที่แล้ว ล่าสุด 3 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ 0.26% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 3 เท่า คาดหวังว่าภายในปี 2561-2562 จะเพิ่มเป็น 1% ซึ่งจะเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดด

“ต้องยอมรับว่าหากยังผลิตสินค้าพื้น ๆ แข่งกับประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่า อย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย บางอุตสาหกรรมแข่งขันค่อนข้างยาก ต้องสู้ด้วยนวัตกรรมทางเดียว องค์กรใหญ่ถ้าไม่เตรียมตัวให้ดีจะหายไปเลย ต้องเตรียมตลอดเวลา ทำอย่างไรให้องค์กรตื่นตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว”

เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีไทยทุกวันนี้ไม่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเลยจากข้อมูลที่มีอยู่ ขณะที่เอสเอ็มอีญี่ปุ่น ลงทุนวิจัยและพัฒนา 10% จากยอดขาย มากกว่าบริษัทชั้นนำ ผมเคยที่จะไปเทกโอเวอร์เอสเอ็มอีญี่ปุ่น จนถึงวันนี้ยังซื้อไม่ได้ เพราะเขาหวงเทคโนโลยีของเขามาก คำถามที่ถามคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเมื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกันกับผู้ผลิตใหญ่จะแพ้ตั้งแต่ต้นทุน ลงทุน 100 ล้านบาท ทำไมไม่กันเงินไว้ 2-3 ล้านบาท ลงทุนวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ให้กับองค์กร จะทำให้กระบวนผลิตสินค้าแตกต่าง จากสินค้าอื่นที่เป็นแมส จะเรียกราคาได้ ต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่

จากโปรเจ็กต์อีอีซี-ดิจิทัล-นวัตกรรมใหม่กู้ชีพเอสเอ็มอีไทย “กานต์” ยังเสริมว่า คณะกรรมการ ปยป. ยังหารือถึงเกษตรแผนใหม่ใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ซึ่งภาคเกษตรไทยมีประชากร 20-30 ล้านคน หรือ 30-40% ของประเทศ แต่จีดีพีเฉลี่ยแค่ 9% หากนำเทคโนโลยีเข้ามาทำเกษตรเชื่อว่า ลดแปลงพื้นที่เพาะปลูกครึ่งหนึ่ง สามารถทำให้ได้ผลผลิตเท่าเดิม หรือเพิ่มเป็น 2 เท่า

ก่อนจะทิ้งท้าย…ประเทศไทย 2018 โอกาสเปิดจริง ๆ ขอแค่ให้การเมืองนิ่งไปถึงปลายปีที่จะมีการเลือกตั้ง ขอให้ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ คุยกันให้บ้านเมืองสงบ มีฐานที่แข็งแรง จะทำให้ก้าวต่อไปได้ ถ้าทุกอย่างไปได้ดี จีดีพีโต 4% จะเป็นไปได้จริง ๆ มีสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนรากหญ้า ลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ