ตรวจเช็ก-ซ่อมบ้าน หลังน้ำท่วม ข้อคำนึง 3 จุดหลัก สำหรับเจ้าของบ้าน

วิธีตรวจเช็กและซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วม เคล็ดลับจาก SCG Home โดย “พีระพงษ์ บุญรังษี” ผู้เชี่ยวชาญจาก SCG Experience

โฟกัส 3 จุดหลัก ดังนี้ 1.“การสำรวจบริเวณรอบบ้าน” ควรเริ่มจากบริเวณรอบ ๆ ตัวบ้านก่อนเป็นลำดับแรก ตามด้วยตัวบ้านภายนอกและภายในบ้านโดยไล่เรียงไปทีละห้อง พร้อมกับการถ่ายภาพ จดบันทึกรายการซ่อมแซม อาจทำสัญลักษณ์ลงบนผังพื้นบ้านเพื่อระบุตำแหน่งด้วยก็ได้

เมื่อน้ำลด…ดินรอบบ้านมักจะยุบตัวลง บางส่วนไหลไปกับกระแสน้ำทำให้เกิดโพรงข้างบ้าน สนามหญ้า ไม้พุ่มเตี้ย ไม้ยืนต้นบางส่วนสำลักน้ำตาย และท่อระบายน้ำทิ้งอุดตัน การแก้ไขปัญหาควรกำจัดเศษขยะบนพื้นดินและซากต้นไม้ที่ตายออกก่อน

จากนั้นลอกท่อระบายน้ำ ตักตะกอนดินออกจากท่อ ทำแนวกำแพงกันดินปิดล้อมพื้นที่เพื่อกั้นกักเก็บดินเดิมเอาไว้ และเพื่อปิดโพรงข้างบ้านเนื่องจากอาการดินยุบตัว

หรืออาจเลือกใช้การฉีดโฟมซีเมนต์ ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวให้ไหลไปเติมเต็มช่องว่างใต้บ้าน แล้วจึงถมดินเพิ่มเพื่อทดแทนดินเดิมที่หายไป ตกแต่งบริเวณรอบบ้านเพิ่มเติมด้วยบล็อกทางเดิน หรือปูหญ้าเทียมแทนการปลูกหญ้าจริงเพราะดูแลรักษาง่าย ซ่อมแซมง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง

2.“โครงสร้างและงานระบบอาคาร” อาจพบว่าโครงสร้างเสา คาน พื้น ผนังบ้าน รั้วมีรอยแตกร้าวลึก ล้มเอียง ทรุดตัว ขอแนะนำให้ปรึกษากับวิศวกรโยธา และว่าจ้างทีมช่างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามาดำเนินการ เช่นเดียวกับงานซ่อมแซมที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นปั๊มน้ำ เครื่องคอมเพรสเซอร์แอร์ ปลั๊กไฟ โคมไฟ ไม่ควรลงมือทำเองเพราะมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้

3.“วัสดุกรุผิวอาคาร” อาจพบว่าวัสดุปูพื้นภายในบ้านเสื่อมสภาพการใช้งาน หลุดล่อน, ผนังบ้านเปื้อนคราบดิน ชื้น สีโป่งพองหลุดล่อน และมีตะไคร่น้ำ, ฝ้าเพดานยิปซัมบวม เปื่อย เป็นเชื้อรา, บานประตูหน้าต่างไม้จริงบวม บิดโก่ง เสียรูป ทำให้เปิด-ปิดยาก

การแก้ไขควรรอให้ความชื้นลดลงเสียก่อน จากนั้นถอดบานประตู หน้าต่างไม้ออก นำไปไสตัดแต่งแก้ไขการบิดโก่งตัว แล้วทาน้ำยาเคลือบไม้นำกลับมาใช้งานใหม่ได้ แต่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนบานพับ มือจับ ลูกบิด กลอน รางเลื่อน

ในกรณีที่เป็นสนิมจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ ต่อด้วยการขัดล้างคราบดิน สีทาผนังที่โป่งพอง และตะไคร่น้ำออก พร้อม ๆ กับการขัดล้างพื้นบ้าน และรื้อวัสดุปูพื้นที่หลุดล่อน

หากน้ำท่วมถึงระดับฝ้าเพดานก็ควรรื้อฝ้าเพดานยิปซัมทิ้งทั้งหมด จากนั้นทาน้ำยาฆ่าเชื้อราและน้ำยาป้องกันตะไคร่น้ำบนผนังบ้านทั้งภายในและภายนอก แล้วทาสีจริงทับอีกชั้น

ขณะที่พื้นควรเลือกใช้กระเบื้องเซรามิกปูแทนวัสดุเดิม เนื่องจากทนต่อการแช่น้ำเป็นเวลานานได้เป็นอย่างดี ส่วนฝ้าเพดานควรเปลี่ยนมาใช้ไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หรือปล่อยโล่งไม่ติดตั้งแผ่นฝ้าเพดาน แต่ก็จะต้องเดินสายไฟให้เรียบร้อย

สำหรับบ้านที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก อาจลองพิจารณาทางเลือกใหม่เป็นการออกแบบก่อสร้างบ้านหลังใหม่แทนบ้านเดิม โดยใช้แนวคิดการยกใต้ถุนสูงแบบเรือนไทยมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเพื่อรับมือกับน้ำท่วม

อาทิ ยกตัวบ้านชั้นล่างให้สูงพ้นระดับน้ำท่วม, ย้ายตำแหน่งระบบถังบำบัด ถังเก็บน้ำที่เคยฝังอยู่ใต้ดินขึ้นมาตั้งไว้บนดินที่ใต้ถุนบ้าน, ปั๊มน้ำ และคอมเพรสเซอร์แอร์ที่เคยวางไว้บนพื้นในระดับดินอาจต้องต่อขายกสูงให้พ้นระดับน้ำท่วมเพื่อให้ง่ายในการดูแล เป็นต้น