รถล้นถนน 10 ล้านคัน เปิดโผท็อปเทนรถติดสาหัส

ดูเหมือนรถติดจะเป็นปัญหาโลกแตกของคนเมืองกรุงมาอย่างยาวนาน เมื่อรถมีมากกว่าพื้นที่ถนน

“พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) กล่าวยอมรับแนวทางการแก้ปัญหารถติดกรุงเทพฯต้องให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น แทนรถยนต์ส่วนตัว เพราะปัญหารถติดมาจากปริมาณรถเกินจากถนน มีรถจดทะเบียน 10 ล้านคัน ขณะที่ถนนมีอยู่แค่ 5,500 กม. ส่วนการก่อสร้างก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เนื่องจากทำให้ผิวจราจรหายไป เกิดคอขวด และคนไม่ค่อยมีวินัยการจราจรในการขับขี่

“ตอนนี้กรุงเทพฯรถติดทุกพื้นที่ ทางตำรวจจราจรก็พยายามทำให้แต่ละพื้นที่เคลื่อนตัวได้ มีทั้งช้าบ้างและเร็วบ้าง ก็ช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง ถ้าไม่มีปัจจัยอื่นมาแทรกซ้อน เช่น ฝนตก น้ำท่วม”

ขณะที่ “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ได้สรุปอัตราความเร็วเฉลี่ยของรถในเขตกรุงเทพฯประจำปี 2559 เพื่อเปรียบเทียบสภาพจราจร รวมทั้งประเมินผลการแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงที่ผ่านมา

Advertisment

โดยบันทึกหมายเลขป้ายทะเบียนรถบนถนนสายหลักต่าง ๆ รวม 6 กลุ่มพื้นที่ มี “กลุ่มด้านทิศเหนือ” ประกอบด้วย ถนนพหลโยธิน วิภาวดีรังสิต ประชาชื่น และพระราม 5 ความเร็วเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าขาเข้าเมือง ลดลงประมาณ 0.1 กม./ชม.หรือ 0.5% ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนเย็นขาออกเมือง เพิ่มขึ้น 2.2 กม./ชม.หรือ 10.5% แม้ว่าเป็นพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีเขียวและสีแดง แต่มีสายสีม่วงและทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตกเปิดให้บริการ

“กลุ่มด้านทิศใต้” ประกอบด้วย ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี มไหสวรรย์ และเจริญกรุง ความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าเพิ่มขึ้น 0.7 กม./ชม.หรือ 6.9% ขณะที่ชั่วโมงเร่งด่วนเย็นเพิ่มขึ้น 1.1 กม./ชม.หรือ 3.4% เป็นผลจากมีการเปิดใช้ถนนต่อเชื่อมจรัญสนิทวงศ์-กาญจนาภิเษก และทางลอดแยกมไหสวรรย์

“กลุ่มด้านทิศตะวันออก” ประกอบด้วย ถนนพระราม 9 เพชรบุรี สุขุมวิท พระราม 4 และลาดพร้าว ความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าลดลง 0.9 กม./ชม. เช่นเดียวกับชั่วโมงเร่งด่วนเย็นที่เพิ่มขึ้น 0.4 กม./ชม.หรือ 2.5%

“กลุ่มด้านตะวันตก” ประกอบด้วย ถนนสิรินธร บรมราชชนนี ราชวิถี เพชรเกษม และสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าเพิ่มขึ้น 0.4 กม./ชม.หรือ 2.5% ส่วนชั่วโมงเร่งด่วนเย็นเพิ่มขึ้น 3.5 กม./ชม.หรือ 15.4% เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

Advertisment

“พื้นที่ภายในถนนวงแหวนชั้นใน” ประกอบด้วย ถนนพระราม 5 พระราม 4 ราชดำเนินกลาง อโศก-ดินแดง ราชวิถี พญาไท เพชรบุรี สุขุมวิท เพลินจิต และพระราม 1 ความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นลดลง โดยเช้าลดลง 0.3 กม./ชม.หรือ 1.9% และเย็นลดลง 2.3 กม./ชม.หรือ 12.8% ผลพวงจากมีการก่อสร้างสายสีน้ำเงิน บนถนนเจริญกรุงและพระราม 4 บริเวณหัวลำโพง

สุดท้าย “กลุ่มถนนวงแหวนชั้นใน” หรือวงแหวนรัชดาภิเษก ประกอบด้วย ถนนรัชดาภิเษก พระราม 3 มไหสวรรย์ และจรัญสนิทวงศ์ ความเร็วในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็นเพิ่มขึ้น ในช่วงเช้าเพิ่มขึ้น 0.6 กม./ชม.หรือ 1.9% และเย็นเพิ่มขึ้น 0.1 กม./ชม.หรือ 7.9% เนื่องจากมีการก่อสร้างทั้งสายสีน้ำเงินและ อุโมงค์ทางลอดแยกไฟฉาย

บทสรุปสภาพการจราจรปี 2559 มีปัญหาติดขัดไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยังมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสถิติปี 2559 รถยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้น 1,200 คัน หรือเพิ่มขึ้น 96 คัน/วัน รถจักรยานยนต์มี 1,300 คัน หรือเพิ่มขึ้น 163 คัน/วัน

ขณะที่การก่อสร้างโครงข่ายถนนและทางด่วนเพิ่มเติมยังคงดำเนินการได้อย่างล่าช้า ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงลิตรละ 30% อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจใช้รถส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้จากการประเมินภาพรวม เมื่อจัดลำดับ 10 ถนนที่มีความเร็วรถเฉลี่ยต่ำสุดในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า (ดูตาราง) พบว่า “ถนนกรุงธนบุรี” ช่วงกรุงธนบุรี-สุรศักดิ์ ยังครองแชมป์ 10 ปีซ้อนนับจากปี 2550 ตามด้วยถนนพระราม 9 บรมราชชนนี เจริญกรุง ราชวิถี พระราม 4 ลาดพร้าว ประชาชื่น สุขุมวิท และเพชรบุรี

ส่วนในชั่วโมงเร่งด่วนเย็น อันดับหนึ่ง “ถนนสุขุมวิท” ช่วงนานา-อโศก รองลงมาถนนราชวิถี พญาไท เจริญกรุง พระราม 9 พระราม 5 พระราม 4 สาทร พหลโยธิน และพระราม 5

สำหรับสถิติของปี 2560 กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ สนข.จ้างทำแผนแม่บทระบบการจราจร ได้วิเคราะห์และสำรวจความเร็วเฉลี่ยรถบนถนนเส้นหลัก พบว่า มี 10 ถนนที่มีความเร็วในการเดินทางต่ำทั้งเช้าและเย็น (ดูตาราง) ได้แก่ ถนนพหลโยธิน สุขุมวิท สุขสวัสดิ์ เพชรเกษม บรมราชชนนี ติวานนท์ ราชวิถี งามวงศ์วาน สาทร และพระราม 1