กรมชลประทาน สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้อำนาจเจริญ เพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์

กรมชลประทาน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานโดยโครงการชลประทานอำนาจเจริญ สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน – อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ เป็นแหล่งเก็บน้ำสำรองสำหรับการอุปโภคบริโภคและสนับสนุนน้ำภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ตลอดช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง รวมถึงการสนับสนุนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปา รองรับการขยายตัวในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อีกทางหนึ่ง

“สำหรับการดำเนินการในส่วนของอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งน้ำจืดสำคัญ สำหรับการอุปโภคบริโภคของอำเภอเมืองอำนาจเจริญ โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2496 แล้วเสร็จ และเริ่มเก็บกัก ปี พ.ศ. 2499 มีปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกัก 7.438 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 5,543 ไร่ และฤดูแล้ง 1,000 ไร่ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการชลประทานอำนาจเจริญ ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อศึกษาและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการปรับปรุง ซึ่งแนวทางดำเนินการจะมีทั้งการขุดลอกอ่างฯ เพื่อเพิ่มการเก็บกักน้ำอีก 3.09  ล้าน ลบ.ม. พร้อมปรับปรุงฝายพับได้จะช่วยเพิ่มความจุได้อีก 2.07 ล้าน ลบ.ม. และอาคารประกอบ 15 แห่ง เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 12.95 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 4,000 ไร่

“ทั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ได้กำชับให้กรมชลประทานรายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน – อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์อย่างมาก ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ จากการเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่ง ให้สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 41.98 ล้าน ลบ.ม. ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอำนาจเจริญ รวมถึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ภายใต้แนวทาง อำนาจเจริญ เมืองธรรมเกษตร” อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า สำหรับจังหวัดอำนาจเจริญนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 1,400,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,975,780 ไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 35,491 ไร่ และจากการที่กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน – อ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ขึ้น จะช่วยทำให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเต็มศักยภาพ และลดผลกระทบจากน้ำท่วมซ้ำซากในเขตอำเภอหัวตะพานและอำเภอเมืองริมฝั่งลำเซบาย และลำห้วยปลาแดกช่วงฤดูน้ำหลาก