แสงทำร้ายดวงตาได้มากแค่ไหน? รู้จักอันตรายของแสงแดดและแสงสีฟ้าที่ทำลายดวงตาได้แบบคาดไม่ถึง

แสงทำร้ายดวงตา

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อมนุษย์ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตและศึกษาพัฒนาสิ่งต่างๆ ได้แบบก้าวกระโดด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลายครั้งในระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ก็มีโอกาสละเลยการดูแลรักษาดวงตาไป รวมไปถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างการสัมผัสแสงต่างๆ โดยตรงเป็นระยะเวลานานอย่างแสงแดดจากดวงอาทิตย์และแสงสีฟ้า ที่สามารถทำร้ายหรือทำให้ดวงตาเสื่อมสภาพลงได้โดยไม่รู้ตัว มาดูกันว่าแสงเหล่านี้สามารถทำร้ายดวงตาได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้ดวงตาของคุณได้รับการดูแลทะนุถนอม ไม่เสื่อมสภาพหรือเกิดปัญหาก่อนวัยอันควร

แสงอาทิตย์และรังสี UV ตัวการทำร้ายดวงตาที่คาดไม่ถึง

แสงแดดและรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ส่งผลเสียต่อสุขภาพดวงตาได้อย่างมีนัยยะสำคัญ และส่งผลต่ออาการบกพร่องทางสายตาได้อย่างร้ายแรง ดังนี้

  • จอประสาทตาเสื่อม (Macular Degeneration)

ดวงตาที่เผชิญกับแสงอาทิตย์และได้รับรังสียูวีเป็นเวลานาน สามารถเร่งให้ดวงตาเสื่อมสภาพเร็วขึ้น จนอาจเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุได้ โดยส่งผลกระทบต่อจุดภาพชัด (Macula) ที่เป็นจุดกลางของจอตาให้ได้รับความเสียหาย เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้ภาพที่เห็นบิดเบี้ยว มีจุดดำ จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นตรงจุดตรงกลางภาพได้ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การอ่านหนังสือและการขับรถ เป็นต้น

  • กระจกตาอักเสบ

กระจกตาอักเสบจากรังสียูวี (Photokeratitis) เป็นอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับรังสี UV ที่รุนแรงจากแสงแดดที่ทำการสะท้อนกับน้ำ ทราย หรือหิมะ หรือวัตถุที่สามารถสะท้อนแสง จนทำให้อาการต่างๆ ได้แก่ แสบตา ตาแดง น้ำตาไหล และปวดตาอย่างมาก

  • ต้อลม ต้อเนื้อ และต้อกระจก

การได้รับรังสียูวีเป็นเวลานานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต้อในดวงตา ไม่ว่าจะเป็นต้อลม ต้อเนื้อ หรือต้อกระจก อาการที่พบคือระคายเคืองที่ตา ตาแห้ง ตาอักเสบ โดยร้ายแรงขึ้นอีกเช่น ก้อนเนื้อมีการขยายบริเวณลุกลาม หรือเลนส์แก้วตาขุ่นลง เกิดการอักเสบเรื้อรังในดวงตา และกระทบต่อการมองเห็นได้

แสงสีฟ้า อันตรายกว่าที่คิด

แสงสีฟ้า คือ รังสีคลื่นความยาวที่มองเห็นได้ด้วยตา เรียกอีกชื่อว่า HEVIS Light (High Energy Visible light) ที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ จอ LED บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ หรือแม้แต่แสงไฟนีออนที่ติดตั้งในอาคารและบ้านของเรา เป็นต้น การรับแสงสีฟ้าที่เรียกได้ว่ามีพลังงานใกล้เคียงกับรังสียูวีเป็นเวลานานนั้น สามารถกระทบกับสุขภาพตาได้ตั้งแต่กระจกตา เลนส์แก้วตา หรืออาจทะลุเข้าไปถึงจอประสาทตาด้านใน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ไม่เป็นผลดีต่อดวงตาในระยะยาว

  • อาการตาล้าจากการใช้งานคอมพิวเตอร์

อาการตาล้าจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ (Digital Eye Strain หรือ Computer Vision Syndrome, CVS) คือ การจ้องหน้าจอหรืออุปกรณ์สื่อดิจิทัลเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดอาการต่างๆ ได้แก่ ตาล้า ตาแดง ตาแห้ง ตาพร่ามัว ปวดเมื่อยลูกตา และมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งแสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากหน้าจอของอุปกรณ์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเลต คอมพิวเตอร์ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้

  • ขัดขวางพฤติกรรมการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ

การได้รับแสงสีฟ้าในช่วงเย็นหรือตอนกลางคืนจะไปรบกวนวงจรการนอนหลับ เนื่องจากแสงสีฟ้าสามารถยับยั้งหรือเข้าไปลดการหลั่งสารเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมนาฬิกาชีวภาพและการนอนหลับของร่างกายได้ นอกจากนี้ แสงสีฟ้ายังกระตุ้นให้เกิดอาการตื่นตัวและการรับรู้ เมื่อใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเช่นการเล่นสมาร์ทโฟนหรือดูทีวีในช่วงเวลาก่อนนอน ก็อาจจะทำให้นอนหลับยากขึ้น หรือนอนหลับไม่สนิทได้

วิธีถนอมและบำรุงสุขภาพดวงตา

จะเห็นว่าแสงแดดและแสงสีฟ้าจากหน้าจอสามารถสร้างความเสียหายต่อดวงตาเราได้มากกว่าที่คิด รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วย หากคุณอยากให้ดวงตามีสุขภาพดีและใช้งานไปได้อีกนาน การป้องกันหรือชะลอไม่ให้ดวงตาเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เริ่มจากวิธีง่ายๆ สามารถทำได้เป็นประจำ ดังต่อไปนี้

  • ตรวจสายตาเป็นประจำ

การตรวจสายตาจักษุแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจหาปัญหาสายตาหรือสัญญาณการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไป การตรวจเช็กและรักษาสภาพดวงตาตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถป้องกันความเสียหายของดวงตาที่ไม่ควรเกิดขึ้นก่อนวัย และปัญหาเรื่องการมองเห็นในระยะยาวได้

  • ใส่แว่นตาป้องกัน

เมื่ออยู่ในพื้นที่กลางแจ้งที่มีแสงแดดจ้า แม้แต่วันที่มีเมฆมาก รวมไปถึงเมื่อต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายกับดวงตา เช่น การเล่นกีฬา ทำโครงการ DIY ร่วมกิจกรรม outdoor สามารถหลีกเลี่ยงการรับรังสียูวีโดยตรงและการจ้องแสงจ้าเป็นเวลานานได้ด้วยการสวมแว่นกันแดด ช่วยป้องกันรังสี UVA และ UVB ได้

  • ฝึกการจัดแสงและการยศาสตร์ที่ดี

ในขณะอ่านหนังสือหรือทำงาน ควรเช็กว่ามีระดับแสงที่เพียงพอเหมาะสมแล้วหรือไม่ เพื่อลดอาการปวดตา โดยจัดตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา และรักษาระยะห่างที่พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาและคอทำงานหนักและเกิดอาการปวดเมื่อยภายหลัง รวมไปถึงการพักสายตาจากหน้าจอโดยใช้กฎ 20-20-20 คือทุกๆ 20 นาที ให้ละสายตาจากหน้าจอ และจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ห่างออกไป 20 ฟุตเป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที ก็จะช่วยลดความเครียดและความเมื่อยล้าของดวงตาได้

  • เลิกสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และอาการทางตาอื่นๆ รวมถึงควันจากบุหรี่ยังส่งผลต่ออาการตาระคายเคือง และอาการตาแห้ง ส่งผลต่อความชุ่มชื้นของดวงตาจากคุณภาพน้ำตาที่ลดลง

  • ตื่นตัวอยู่เสมอ

การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยส่งเสริมการไหลเวียนโลหิต ส่งผลดีต่อดวงตา ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสายตา เช่น ต้อหิน และจอประสาทตาเสื่อมตามวัย

  • รักษาคอนแทคเลนส์ให้สะอาด

ใครที่ใส่คอนแทคเลนส์จะต้องรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสคอนแทคเลนส์ ไม่ควรไว้เล็บยาวเนื่องจากจะต้องหยิบคอนแทคเลนส์เข้าออกทุกวัน ไม่ควรใส่ขณะนอน และหากใส่แล้วมีอาการตาแดง ตาแห้ง หรือรู้สึกไม่สบายตา ควรถอดออกทันที

  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา

การขยี้ตาอาจทำให้สิ่งสกปรก เชื้อโรค และสารระคายเคืองเข้าสู่ดวงตาได้ง่าย เสี่ยงต่อการติดเชื้อในตาหรือกระจกตาได้ หากดวงตามีอาการคันหรือระคายเคือง ให้ใช้น้ำตาเทียมหรือปรึกษาจักษุแพทย์

  • เลือกทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา

เลือกทานอาหารที่มีสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์และวิตามินบำรุงสายตาอย่างไข่แดง เนื้อปลา ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ สาหร่าย ผักใบเขียว และผลไม้ตระกูลสีส้มเหลืองแดง เช่น ฟักทอง แครอท อะโวคาโด เป็นต้น จะช่วยให้เราได้รับสารอาหารซึ่งช่วยในการบำรุงสายตา เช่น เบตาแคโรทีน ซีแซนทีน ลูทีน ไลโคปีน ซิงก์ โอเมก้า 3 กรดไขมัน DHA และวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และวิตามินบี สารอาหารเหล่านี้จะช่วยป้องกันจอประสาทตาเสื่อม เยื่อบุตาอักเสบ ป้องกันรังสีจากแสงแดด เพิ่มความชุ่มชื้น ปกป้องเซลล์จากการถูกทำลาย และลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายตา

การใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ต้องคลุกคลีอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีและมลภาวะจากสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวัน ทำให้เราหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าและรังสียูวีจากแสงแดดได้ยาก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อดวงตาและเพิ่มความเสี่ยงให้ตาเสื่อมสภาพก่อนวัย จนนำไปสู่ปัญหาและโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตาได้ ทางที่ดีจึงควรหาทางป้องกันด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ และทานอาหารที่มีสารจำเป็นต่อร่างกาย รวมไปถึงวิตามินช่วยบำรุงสายตาและการมองเห็น เพื่อชะลอความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา อันเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องใส่ใจและรักษาให้อยู่กับเราได้นานที่สุด