ปลัดมหาดไทยเผย “คนมหาดไทยต้องทำงานเชิงรุกด้วยความรวดเร็ว”

ปลัดมหาดไทยเผย

ปลัดมหาดไทยเผย “คนมหาดไทยต้องทำงานเชิงรุกด้วยความรวดเร็ว” มีความพร้อมขับเคลื่อนงานในทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงวิธีการทำงานของคนมหาดไทยตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในโอกาสพบปะข้าราชการเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ความว่า “…ผมเป็นคนทำงานวันนี้ สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน เพราะฉะนั้น ขอให้ทุกคนได้มีความมั่นใจ..” เป็นเครื่องเตือนใจให้คนมหาดไทยต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว และมีความพร้อมอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องทำงานเชิงรุก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ถ้า “เข้าใจ เข้าถึง” พี่น้องประชาชนแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง ก็จะสามารถพัฒนาและดำเนินการได้ทันที อะไรที่ยังแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน ต่อสาธารณชน สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่คนมหาดไทยได้รับการบ่มเพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดว่า “รอบรู้ รวดเร็ว ริ่เริ่ม และเร่งรัด” ดังที่ท่านวิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เคยกล่าวไว้

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า “เมื่อวานนี้งานจะเสร็จได้อย่างไร ในเมื่อสั่งวันนี้” แต่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนในฐานะข้าราชการประจำ ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจสอบคัดเลือกเข้ามารับราชการ ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ ต่างก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้นมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง นั่นคือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ หน้าที่ของคนมหาดไทย งานของทุกกระทรวง ทบวง กรมที่ลงสู่พื้นที่ ก็คืองานของคนมหาดไทย ดังนั้น พวกเราในฐานะข้าราชการประจำ จะต้องมุ่งมั่นทุ่มเททำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด มีใจ มี Passion ในการทำงานโดยไม่ยึดถือเรื่องเวลาเป็นข้อจำกัดของการทำงาน เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำเสนอสิ่งที่ดีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบตามที่เราได้คิด ได้เสนอ

“นอกจากนี้ คนมหาดไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ผู้บริหารระดับสูง ต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ต้องรู้ลึก รู้กว้าง ถึงเรื่องที่จะขับเคลื่อน เพื่อนำไปสื่อสารกับนายอำเภอในฐานะผู้นำของพื้นที่และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีนัยนะว่า “ผู้นำทำงานต่าง ๆ ลำพังคนเดียวไม่ได้” ต้องมีทีมงานจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคสื่อสารมวลชน ช่วยขับเคลื่อนงาน และที่สำคัญ “ต้องเร่งรัด ติดตามการขับเคลื่อนงาน” เพื่อให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมรับประโยชน์ ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า ซึ่งหากทุกคนสามารถทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะมีคุณสมบัติตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวไว้นั่นเอง” ปลัด มท. ระบุ

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว เพิ่มเติ่มว่าไม่สำคัญว่าชีวิตราชการของเราจะเหลือมากเหลือน้อย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องทำทุกวันทุกเวลาทุกนาทีให้มีค่า เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน  ซึ่งผมขอเรียกร้องจากหัวใจของคนมหาดไทยว่าต้องมี passion ที่จะขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดความสำเร็จในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบ และความสำเร็จในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบนั้น จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขเพิ่มมากขึ้น และความสุขที่เพิ่มมากขึ้นนี้ จะเป็นสุดยอดของความปรารถนาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มองไว้ คือคำว่าอุดมสมบูรณ์พูนสุข ซึ่งก็คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั่นเอง

“สิ่งเหล่านี้ แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของผู้นำ นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัดต้องไปทำให้เกิดผลสำเร็จให้จงได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไม่สำเร็จ เป็นเพราะผู้นำไม่มีไฟ ทำแต่งาน routine ไม่ได้แตะต้องเนื้องานที่เป็นงานเชิงรุกหรือเชิงคุณภาพ อีกประการสำคัญก็คือ มีผู้นำที่เปรียบเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีของจังหวัด ที่มีภาคีเครือข่ายที่ช่วยเราขับเคลื่อนการทำงานได้ เพราะฉะนั้นภาคีเครือข่ายจึงมีความสำคัญ เปรียบเสมือนดังคลื่นมหาสมุทรที่ไม่มีวันขาดตอน เราต้องเป็นผู้นำที่จะต้องผนึกกำลังของภาคีเครือข่ายไว้เสมอ เพื่อที่จะทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามต่อพี่น้องประชาชนอย่างชัดเจนควบคู่ไปกับงาน routine เพราะไม่อย่างนั้นความอุดมสมบูรณ์พูนสุขจะมีมิได้เลย

ขออุปมาเหมือนกับวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ที่ทศกัณฐ์มีถึง 10 พระพักตร์ 20 พระกร แต่ก็ต้องแพ้พระราม ที่มีเพียง 2 พระกร เพราะว่าพระรามมีไพร่พลที่ดี มีภาคีเครือข่ายช่วยรบจนชนะทศกัณฐ์ได้ เช่นเดียวกันการมีภาคีเครือข่ายที่ดีของผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะสามารถนำเอาปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนมารายงานท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับทราบ เพื่อพัฒนาแก้ไขคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที”

โดยต้องทำงานเชิงรุก มีความเตรียมพร้อมเสมอ ไม่รอให้สั่งแล้วค่อยทำ หรือมีปัญหาอุปสรรคอันใดต้องรีบแก้ไขและรายงาน อีกสิ่งที่สำคัญ คือ การทำงานด้วยความรวดเร็วหรือ speed ซึ่งนัยอย่างนี้ไม่มีอะไรเกินสิ่งที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ให้พระโอวาทไว้ว่า “ลงพื้นที่ให้รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด”

“แนวทางการทำงานที่สำคัญ คือ “การพัฒนาคน”  โดยเริ่มจากตัวท่านผู้ว่าราชการและทีมงานในจังหวัดให้มีองค์ความรู้ที่รู้ลึก – รู้จริง – รู้กว้าง เพื่อลงไปนำและสร้างเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ สร้างตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานตามนโยบายด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งร่วมกันถอดบทเรียนและสื่อสารความสำเร็จนั้นให้เกิดการขยายผลที่ยั่งยืนต่อไป ขอให้ทุกลมหายใจและทุกหยาดเหงื่อ และโลหิตของคนมหาดไทย ได้อุทิศเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อประเทศชาติ เพื่อพระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนยิ่งของพวกเรา”