โควิด-19 กลายพันธุ์ ‘สายพันธุ์มิว’ สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความสนใจ

สุขภาพดีกับรามาฯ

อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด

ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มลดจำนวนลงในแต่ละวัน แต่ยังมีหลายรายที่ยังอยู่ในระหว่างการรักษาทั้งในสถานพยาบาลและที่บ้าน ยังคงมีอัตราการเสียชีวิตที่ไม่ลดลงมาก และมีการแพร่กระจายเชื้อในบ้าน สถานที่ที่มีการรวมตัวกันมาก ถึงแม้บางรายจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วก็ตาม ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้นว่ายังมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อีกหรือไม่ นอกจากสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เร็วและรุนแรงมากขึ้นแล้ว

องค์การอนามัยโลกมีการประกาศเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า “สายพันธุ์มิว” สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความสนใจ เรามาทำความรู้จักกัน

สายพันธุ์มิวมีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลอมเบียในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 นี้ โดยได้ชื่อตั้งต้นว่า B1621 และมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ที่สำคัญคือตำแหน่ง P681H ซึ่งพบครั้งแรกในการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อัลฟ่า ซึ่งอาจทำให้กลายพันธุ์เร็วขึ้น และมีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K และ K417N ซึ่งอาจทำให้หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ ซึ่งพบในสายพันธุ์เบต้าที่ทำให้วัคซีนนั้นไม่ได้ผล ยังพบว่ามีอีก 2 ตำแหน่งคือ R346K และ Y144T ที่กำลังมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะทำให้เกิดอะไรขึ้น

มีการค้นพบสายพันธุ์มิวมากกว่า 40 ประเทศอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของการติดเชื้อทั่วโลก แต่ในโคลอมเบียและชิลิประเทศเพื่อนบ้านเองได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่พบถึงประมาณร้อยละ 40 ในขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทยแต่มีการติดตามอย่างใกล้ชิด

องค์การอนามัยโลกแบ่งสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ในขณะที่เขียนวันที่ 6 กันยายน 2564 นี้

1.variant of concern (VOC) สายพันธุ์ที่ต้องกังวล ได้แก่ อัลฟ่า เบต้า แกมม่า และเดลต้า

2.variant of interest (VOI) สายพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจ ได้แก่ มิว อีต้า ไอโอต้า แคปป้า และแลมบ์ด้า

โดยสรุปแล้วสายพันธุ์มิวแม้ยังเป็นกลุ่ม VOI แต่มีความแตกต่างทางด้านพันธุกรรม และทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีการสังเกตอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นปัญหาต่อสาธารณสุขในวงกว้างหรือไม่ โดยการกลายพันธุ์นี้อาจทำให้ติดง่ายมากขึ้น และโรครุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญคือการรักษาในปัจจุบันอาจไม่ดีเพียงพอที่จะกำจัดเชื้อสายพันธุ์นี้ได้ นอกจากนั้น อาจทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายจากคนที่เคยได้รับวัคซีนหรือคนที่เคยติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นแล้ว ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ใหม่นี้ได้

ดังนั้น แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบหรือเคยติดเชื้อแล้ว ทุกคนควรจะปฏิบัติตัวแบบวิถีชีวิตใหม่อย่างเคร่งครัด โดยการทำความสะอาดมือและพื้นผิวบ่อย ๆ ใส่หน้ากากที่เหมาะสมป้องกัน งดไปในที่แออัดหรือที่ระบายอากาศไม่ดี เว้นระยะห่างทางสังคม งดการดื่มน้ำหรือใช้ช้อนส้อมร่วมกัน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ เลี่ยงการกินยาหรือสมุนไพรที่ไม่ทราบฤทธิ์หรือไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าช่วยป้องกันหรือรักษาโควิด-19 แต่อาจมีผลเสีย หากมีโรคประจำตัวให้ทานยาเดิมสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด โดยอาจเลือกเป็นระบบทางไกล

หากมีอาการไม่สบายตัว หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ให้แยกตัวจากผู้อื่นหาชุดตรวจแอนติเจนที่ได้ผลเร็ว (antigen test kit ; ATK) หรือไปที่จุดตรวจโรคทางเดินหายใจในสถานพยาบาลหรือจุดให้บริการในชุมชนที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมชนิดพีซีอาร์ทันที

 

หมายเหตุ : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล