“ยูเนสโก” ประกาศสดุดี ในหลวงรัชกาลที่ ๙

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้จัดวาระพิเศษขึ้นเพื่อกล่าวถวายราชสดุดีและแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติด้วยการถวายราชสักการะในเวทีนานาชาติ ในการประชุมว่าด้วยสันติภาพระหว่างวันที่ 26 ถึง 28 กันยายน ในการประชุม “อินเตอร์เนชั่นแนล พีซ คอนเฟอเรนซ์ 2017” (International Peace Conference 2017) หัวข้อ “ซัสเตนเอเบิล เวิลด์ พีซ” (Sustainable World Peace) ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวว่า การกล่าวถวายราชสดุดีและแสดงความอาลัยเริ่มขึ้นในวันแรกของการประชุม ในช่วงเช้าโดย นางอิริน่า โบโกว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ขึ้นกล่าวสดุดี ตามด้วย นายไมเคิล ว็อป ประธานกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก จากนั้นตัวแทนถาวรประจำยูเนสโกจากนานาประเทศ ตัวแทนผู้นำพระพุทธศาสนาจากประเทศต่าง ๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี และประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เข้าร่วมกล่าวสดุดี ในช่วงบ่ายเป็นช่วงที่ทำให้ชาวโลกรู้ว่าทำไม ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นที่รักของประชาราษฎร์ โดยการจัดสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ การสร้างสังคมแห่งสันติภาพที่ยั่งยืน-มรดกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสอดคล้องกับกระบวนทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหัวข้อการนำเสนอมุมมองจากนักวิชาการนานาชาติจากหลากหลายมิติ อาทิ ศาสตราจารย์สตีเฟน บี ยัง, ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นางอิริน่า โบโกว่า (Irina Bokova) ผู้อำนวยการยูเนสโก ได้กล่าวสรรเสริญในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า “ทรงวางรากฐานของการพัฒนามาตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง โดยมีหลักปฏิบัติที่เน้นประชาชนเป็นสำคัญ ทรงนำเอาวิสัยทัศน์อันกว้างไกลมาปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง ขณะที่ทางยูเนสโกก็ได้นำไปใช้ในการร่วมวางแผนแม่บทของยูเนสโกเอง เพื่อให้บรรลุถึงเศรษฐกิจพอเพียงในระดับนานาชาติ ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้สำเร็จภายในปี 2573”

“แนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าเป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 และผลของการนำไปปฏิบัติ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ส่งผลในเชิงบวกไปทั่วโลก”

“นอกจากทรงสร้างประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 20 ไว้แล้ว วิสัยทัศน์ของท่าน หรือที่ดิฉันเรียกว่าความชาญฉลาด ได้สร้างประวัติศาสตร์ของศตวรรษที่ 21 ในเวลาต่อมา”

“ผลงานที่ผ่านมาทั้งหมดเป็นการยืนยันว่า การพัฒนาประเทศไทยในอนาคตถึงความสำคัญของความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษาระดับสูง กลายมาเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจในระดับโลก ที่จะผลักดันโดยนวัตกรรม ความรู้ การวิจัย ซึ่งวิสัยทัศน์ระดับยุทธศาสตร์เหล่านี้ ไม่อาจแยกจากกันได้กับความมุ่งมั่นที่ฝังลึกของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล และประชาธิปไตย มาโดยตลอด”

นอกเหนือจากนางอิริน่า ยังมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเนสโกซึ่งเป็นตัวแทนจากหลายประเทศ ได้ร่วมกล่าวยกย่องและไว้อาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยอาศัยประสบการณ์ตรงที่ได้เคยทำงานในโครงการพัฒนาของยูเนสโกที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยกล่าวย้ำถึงคำสอนของพระองค์ในหลักการสันติภาพ และควรน้อมนำไปปฏิบัติกันในระดับโลก รวมทั้งแนวคิดของพระองค์ในด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) ด้านประธานกลุ่มเอเชีย-แฟซิฟิกของยูเนสโก กล่าวถึงช่วงเวลาการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เน้นถึงพระราชกรณียกิจด้านสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นต้นแบบไปสู่การพัฒนาในระดับสากลโลก

นอกจากนี้ในส่วนของคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของไทยได้สวดมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล กับมีพระภิกษุตัวแทนขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้มากล่าวเทิดพระเกียรติของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นภาษาจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้เคยจัดวาระพิเศษสำหรับการถวายราชสดุดีและแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นเวลาไม่นาน ภายหลังจากที่เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม โดยนายบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติได้เป็นผู้กล่าวถ้อยคำแสดงความอาลัยด้วยตัวเอง นอกเหนือไปจากคำถวายราชสดุดีจากเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติระดับสูงจากหลายประเทศ