พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

การถวายพระเพลิง เป็นขั้นตอนสำคัญในการพระราชพิธีพระบรมศพ เพื่อน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย สถานที่ในการประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชทานเพลิงพระศพในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรียกว่า ทุ่งพระเมรุ ซึ่งทุ่งพระเมรุของกรุงรัตนโกสินทร์ก็คือท้องสนามหลวง ที่ใช้ประกอบการพระราชพิธีพระบรมศพและพระศพ เริ่มมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ในปี พ.ศ. 2338 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ธรรมเนียมเผาหลอก-เผาจริง

ตามกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีการถวายพระเพลิง 2 รอบ คือเวลา 17.30 น. และ 22.00 น. ของวันที่

26 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเย็นนั้นเรียกว่าเผาหลอก ส่วนในช่วง 4 ทุ่มเป็นการเผาจริง ซึ่งแต่เดิมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย มีการเผาครั้งเดียวในช่วงบ่ายเช่นเดียวกับคนทั่วไป ส่วนธรรมเนียมการเผาหลอก-เผาจริง เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่า เปิดเพลิง

นนทพร อยู่มั่งมี เคยยกพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ที่ทรงบันทึกเกี่ยวกับที่มาและความแพร่หลายของพิธีนี้มาเขียนไว้ในหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย” ตอนหนึ่งว่า

“แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวงในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพเดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิงจึ่งปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสีย และคอยระวังถอนธูปเทียนออกเสียจากภายใต้เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้วจึ่งเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ ในเวลาที่เผาจริง ๆ เช่นว่านี้ มักมีพวกเจ้าภาพอยู่ที่เมรุบ้าง จึ่งเกิดนึกเอาผ้าทอดให้พระสดัปกรณบ้างตามศรัทธา ดังนี้จึ่งเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิธให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิธเผาอีกครั้ง 1 เมื่อเปิดเพลิง กรมนเรศร์เปนผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเปนผู้ตั้งศัพท์ ‘เผาพิธี’ และ ‘เผาจริง’ ขึ้น เลยเกิดถือกันว่าผู้ที่เปนญาติและมิตร์จริงของผู้ตายถ้าไม่ได้เผาจริงเปนการเสียไป และการเผาศพจึ่งกลายเปนเผา 2 ครั้ง”

ทั้งนี้ งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) เป็นงานระดับพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้รับการถวายพระเพลิงตามธรรมเนียมนี้

ขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

การเชิญพระบรมศพจากพระมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ เชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เชิญพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุหรือลอยพระอังคาร ตามโบราณราชประเพณีจะเชิญไปด้วยขบวนพระราชอิสริยยศ เรียกว่า “ริ้วขบวน” ซึ่งในแต่ละริ้วขบวนมีคนหามและคนฉุดชักจำนวนมาก พร้อมด้วยเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ได้แก่ เครื่องสูง พระกลด บังสูรย์ พัดโบก บังแทรก พุ่มเงิน พุ่มทอง จามร พระอภิรุมชุมสาย แวดล้อมตามพระราชฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมศพ หรือ พระศพนั้น ๆ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประโคม เช่น สังข์แตร ปี่ กลองชนะ พร้อมสรรพด้วยโขลนพลโยธาแห่นำตามแซง เสด็จ ทั้งคู่แห่ คู่เคียง เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเข้าขบวนและเคลื่อนขบวนไปอย่างมีระเบียบและสง่างาม

การจัดขบวนพระบรมราชอิสริยยศงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มี 6 ริ้วขบวน กำลังพลจำนวน 5,613 นาย ดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 07.00 น.

ริ้วขบวนที่ 1 เชิญพระบรมโกศโดยพระยานมาศสามลำคานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เส้นทางจากประตูเทวาภิรมย์-ถนนมหาราช-ถนนท้ายวัง-ถนนสนามไชย ระยะทาง 817 เมตร ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพล จำนวน 965 นาย

ริ้วขบวนที่ 2 เชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรมุาศ เส้นทางจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม-ถนนสนามไชย-ถนนราชดำเนินใน-ถนนเส้นกลางสนามหลวง ระยะทาง 890 เมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง เดินแบบเปลี่ยนเท้าประกอบเพลงพญาโศก จัดกำลังพลจำนวน 2,406 นาย

ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระบรมโกศโดยราชรถปืนใหญ่เวียนรอบพระเมรุมาศ โดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) 3 รอบ แล้วเชิญพระบรมโกศประดิษฐานบนพระเมรุมาศ ระยะทาง 260 เมตร ต่อรอบ ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 781 นาย

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 08.00 น.

ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานและเชิญพระบรมราชสรีรางคาร โดยพระที่นั่งราเชนทรยานน้อยจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เส้นทางจากถนนกลางสนามหลวง-ถนนราชดำเนินใน-ถนนหน้าพระลาน-เข้าประตูวิเศษไชยศรีพระบรมมหาราชวัง ระยะทาง 1,074 เมตร ใช้เวลา 30 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 834 นาย

วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เวลา 10.30 น. และเวลา 17.30 น. ตามลำดับ

ริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยานจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐานที่พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เส้นทางจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท-พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลา 10 นาที เดินตามจังหวะเสียงกลอง โดยการเดินปกติ จัดกำลังพลจำนวน 550 นายริ้วขบวนที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคารจาก

พระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยรถยนต์พระที่นั่ง เส้นทางจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม- ประตูวิเศษไชยศรี-ถนนหน้าพระลาน-ถนนสนามไชย- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และจากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม-ถนนอัษฎางค์-ถนนสนามไชย-ถนนราชดำเนินกลาง-ถนนพระสุเมรุ-วัดบวรนิเวศวิหาร จัดขบวนม้าจำนวน 77 ม้า