ย้อนอดีตวิถี “บล็อกเว็บ” มองอนาคตระบบเกาะติดข้อมูลโซเชียล

คร่ำหวอดมานานในวงการไอที และเป็นที่รู้จักในฐานะตำรวจไซเบอร์ยุคบุกเบิก สำหรับ “พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน” อดีตรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ที่ถึงกับเปรยว่า ตนเองแทบจะเรียกว่าเป็น “บิดาแห่งการบล็อกเว็บ” ในประเทศไทย เพราะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐคนแรก ๆ ที่ต้องทำหน้าที่นี้ และปัจจุบันยังเป็นชื่อแรก ๆ ที่นึกถึงเมื่อมีสารพัดปัญหาที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พาย้อนอดีตกับภารกิจ “บล็อกเว็บ” ในยุคก่อนนี้เทียบกับยุคปัจจุบัน และมองไปถึงอนาคต

โดย “พ.ต.อ.ญาณพล” กล่าวว่า ในยุคแรกเริ่มตั้งแต่ยังไม่มี พ.ร.บ.คอมพ์ การบล็อกเว็บยุคแรก ๆ เดิมเป็นเรื่องของเว็บโป๊ ลามกอนาจาร และการพนัน ซึ่งใช้วิธีการประสานงานขอร้องกันระหว่างตำรวจกับเจ้าของเว็บไซต์ ไม่ได้มีหมายศาลอะไร จนกระทั่งมีการยกร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแรกขึ้นมา

“ช่วงแรก ๆ ในการบล็อกเว็บ มาจนถึงช่วงยกร่างกฎหมายฉบับแรก ในระหว่างนั้นก็มักจะมีกรณีที่บรรดานักการเมืองคนนั้นคนนี้มาขอให้ช่วยบล็อก แต่พอมีปัญหาขึ้นมาก็ไม่ยอมรับ ปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้ขอมา พนักงานเจ้าหน้าที่ทำกันเอง เจ้าหน้าที่ก็ปวดหัวกันไป ทางคณะกรรมาธิการที่ยกร่างกฎหมายจึงได้ดึงให้รัฐมนตรีเข้ามาในกระบวนการ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำเรื่องเสนอให้รัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติไปขอหมายศาล เพื่อไม่ให้มีการปฏิเสธความรับผิดชอบได้อีก”

แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นบ่อย คือ “อ้างความจำเป็นเร่งด่วน” ไม่สามารถรอให้รัฐมนตรีที่ติดภารกิจไปต่างจังหวัดต่างประเทศเซ็นอนุมัติได้

และที่เกิดปัญหากับพนักงานระดับปฏิบัติการก็คือหลายครั้งเป็นการเตรียมการไว้แล้วล่วงหน้า แต่ถูกสั่งว่าให้รอจังหวะที่รัฐมนตรีไม่อยู่ก่อนแล้วค่อยยื่นขอคำสั่งศาล เพื่อให้รัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบ

เมื่อกฎหมายฉบับใหม่ยังเปิดช่องเรื่อง “ความจำเป็นเร่งด่วน” จึงอยากให้กำหนดกรอบมาตรฐานไว้ว่า อย่างไรถือว่าจำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ เพราะยุคสมัยนี้ไม่ว่าด่วนอย่างไรก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

Advertisment

“ตอนนี้ถ้าเปิดช่องให้มีการปิดอย่างเร่งด่วนได้มันก็มีเคสที่ดักทางไว้ล่วงหน้าได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่รับเคราะห์ ส่วนกรณีที่อ้างว่าเดี๋ยวนี้มัน Live สดผ่านโซเชียลเยอะแยะ มันต้องรีบปิด แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ มันมีกระบวนการเยอะ อย่าง Live สดฆ่าตัวตาย กว่าจะเข้ากระบวนการเสร็จก็ตายกันเรียบแล้ว”

ขณะเดียวกัน อดีตรองอธิบดี DSI มองว่า ถึงเวลาที่จะมีศาลไอทีหรือศาลเฉพาะเพื่อดำเนินคดีเหล่านี้ ให้การพิจารณาไปในแนวทางเดียวกัน

Advertisment

“ต่อไปอนาคตอาจจะต้องมีคุกเฉพาะด้วยซ้ำ เพราะคนพวกนี้ห้ามจับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เพราะจับปุ๊บสร้างเรื่องได้หมด”

ขณะที่มุมมองต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา “พ.ต.อ.ญาณพล” กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่กฎหมายนี้จะต้องปรับปรุงอยู่เรื่อย ๆ และใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะแก้ไขหรือประกาศใช้ได้ ซึ่งไม่เคยทำได้สำเร็จในรัฐบาลแบบปกติ แต่ในส่วนของ พ.ร.บ.ใหม่มีส่วนที่รู้สึกยินดีมากที่สุด คือ มาตรา 15 ที่กำหนดให้เจ้าของเว็บไซต์และผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิด หากได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนที่ประกาศไว้

“เคยมีเคสที่เจ้าของเว็บไซต์โดนจับเข้าคุก เพราะผู้ใช้งานก็คือเจ้าของ www.212cafe.com เขาสร้างเว็บบอร์ดขึ้นมา ก็มีคนมาใช้ราว 3 หมื่นกว่าคน เข้ามาสร้างเว็บบอร์ดของตัวเอง มีทั้งอาจารย์ นักวิชาการ แล้วก็มีพวกฝรั่งที่เข้ามาทำเว็บโป๊เด็กฝากไว้ที่นี่ เพราะในประเทศเขามันผิดกฎหมาย สักพักตำรวจจากต่างประเทศก็ติดต่อประสานงานมาขอให้ผมลบให้ ก็ไปประสานงานกับเจ้าของเว็บให้ ทำไปทำมาเจ้าของรำคาญเลยเอายูสเซอร์เนมกับพาสเวิร์ดของมาสเตอร์มาให้ผม บอกพี่จะลบอะไรลบไปเลย เรียกได้ว่าเป็นเว็บเดียวในโลกที่ให้มาแบบนี้ จนกระทั่งเกิดเหตุมีแฟนทะเลาะกัน เอารูปโป๊ของแฟนมาลง พอตำรวจตรวจเจอโทร.มาแจ้งให้เจ้าของเว็บลบ เขาก็ลบให้ เรื่องเหมือนจะจบ แต่เดือนหนึ่งผ่านมาโดนฟ้อง สุดท้ายติดคุก ตอนนี้เลยเลิกกิจการทำเว็บไปทำหมูชาบูที่อุดรฯแทน จึงหวังว่ามาตรา 15 พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่ เมื่อมีเหตุขึ้นมาแล้วปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงก็ไม่ต้องรับโทษ ถือเป็นการคุ้มครองผู้ทำเว็บให้ไม่ต้องติดคุก จากเดิมที่ลบให้แล้วก็ยังติดคุกเพราะว่าครั้งหนึ่งเคยมีอยู่บนเว็บของตัวเอง แต่ว่าประกาศกระทรวงที่ออกมาจะต้องรับได้จริง”

ส่วนกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำลังจะจัดซื้อศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้า และวิเคราะห์อาชญากรรมเทคโนโลยีเพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน สังคม และความมั่นคงของชาติ มูลค่าโครงการ 128.5 ล้านบาท โดยมีการจัดซื้อที่สำคัญคือ ระบบจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์กมูลค่า 28.4 ล้านบาท เพื่อเฝ้าระวังและค้นหาติดตามข้อมูลผู้ใช้งานนั้น “พ.ต.อ.ญาณพล”กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่หลายประเทศมีใช้ แทบจะมีน้อยประเทศมากที่ไม่มีใช้

แต่สิ่งที่สำคัญคือ ด้วยระบบนี้จะทำให้เกิดข้อมูลที่ต้องวิเคราะห์มหาศาล ดังนั้น ด้วยศักยภาพและจำนวนพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการมอนิเตอร์ทุกคนในสังคมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ดังนั้น จึงเชื่อว่าการมอนิเตอร์จะมีการนำมาใช้อย่างเฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น

“หากมีประเด็นคำถามว่าทำแบบนี้ถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพของประชาชนหรือไม่ คงต้องถามย้อนกลับไปว่า แล้วประเทศไหนบ้างที่ไม่มี แม้แต่ประเทศที่ทุกคนคิดว่ามีเสรีภาพสูงสุดก็ยังมีใช้งาน แต่การใช้งานจะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย อย่างในประเทศไทยหน่วยงานที่มีอำนาจจะกระทำการแบบนี้ได้มีแค่ไม่กี่แห่ง อย่าง DSI และหน่วยงานความมั่นคงบางที่ ซึ่งตามกฎหมายดักฟังฉบับใหม่ให้อำนาจไว้”