บี้ 6 แสนร้านค้าติดเครื่อง EDC “สรรพากร”แท็กทีม สนง.บัญชีขู่ตรวจเข้ม

สรรพากรขู่ร้านค้า 6 แสนราย ไม่ติดเครื่องอีดีซีเจอตรวจเข้ม พร้อมแท็กทีมสำนักงานบัญชีปูพรมตรวจแนะนำผู้เสียภาษี 3 แสนรายให้ลงบัญชีอย่างถูกต้องก่อนมาตรการจดทะเบียนนิติบุคคลหมดอายุสิ้น ธ.ค.นี้ เอาจริงใช้ใบกำกับภาษีปลอมแม้เพียงใบเดียวเจอโทษอาญา เริ่ม 1 ก.ย.นี้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะกำหนดให้ร้านค้าที่ไม่ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ตามนโยบาย National e-Payment ของรัฐบาล จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะต้องตรวจสอบเข้มข้น เพราะที่ผ่านมาพบว่า มีร้านค้าที่ติดตั้ง 90,000 ร้านค้า หรือคิดเป็น 15% จากที่ได้ตั้งเป้าหมายวางเครื่อง EDC ทั้งสิ้น 690,000 ร้านค้า ส่วนที่เหลืออีก 600,000 ร้านค้า ยังไม่ยอมติดตั้งเครื่องอีดีซี เนื่องจากกังวลว่ากรมสรรพากรจะเข้าตรวจสอบ

“ร้านที่ไม่วางเครื่องจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ความเสี่ยงที่เราต้องเข้าไปตรวจ เพราะจริง ๆ แล้วเครื่อง EDC จะช่วยเรื่องการลงบัญชี สามารถดึงข้อมูลยอดขายได้ แถมเมื่อติดเครื่องแล้ว ความเสี่ยงจะลดลง เวลาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะได้เร็วขึ้นด้วย” นายประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ รัฐบาลมีมาตรการเปลี่ยนบุคคลธรรมดาให้ทำการจดทะเบียนทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล ที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2560 นี้ การผลักดันระบบ e-Payment ที่กำลังดำเนินการ ตลอดจนการเก็บภาษีจากการค้าขายออนไลน์ ก็จะให้ธนาคารเป็นผู้จัดเก็บแทนกรมทุกประเภทภาษี และในปี 2562 การขอสินเชื่อก็จะต้องใช้บัญชีงบการเงินที่ยื่นกรมสรรพากรเท่านั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการได้ปรับการลงบัญชีให้ถูกต้อง โดยหลังจากนี้กรมสรรพากรจะร่วมมือกับสำนักงานบัญชี ในการเข้าไปตรวจแนะนำด้านภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานบัญชี เป็นผู้ทำบัญชีให้ผู้เสียภาษีราว 3 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

นายประสงค์กล่าวว่า สำนักงานบัญชีถือเป็นตัวกลางที่จะทำความเข้าใจให้มีการลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งก่อนที่จะลงไปตรวจแนะนำ จะมีการทำการบ้านร่วมกันก่อนว่า บริษัทที่จะลงไปตรวจนั้นมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เช่น อาจจะลงรายได้ไม่ครบ อาจจะลงรายจ่ายไม่ถูกต้อง หรืออาจจะมีการนำรายจ่ายส่วนตัวมารวมด้วย เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงานบัญชีจะมีหน้าที่จัดทำบัญชีลูกค้าให้ปิดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กรมสรรพากรชี้ให้เห็น

“วันนี้ผมอยากให้ผู้เสียภาษีเห็นว่า ระบบไอทีที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวบังคับให้สำนักงานบัญชีต้องปรับตัวเอง ยกตัวอย่างเมื่อก่อนสวีเดนใช้เวลา 50 ปี ปรับเป็นประเทศไม่ใช้เงินสด แต่ล่าสุดจีนใช้เวลาไม่กี่เดือน เปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสดใน 2 มณฑล สิ่งเหล่านี้ในอนาคต สำนักงานบัญชีจะไม่ต้องไปหอบเอกสารของลูกค้ามานั่งลงบัญชี แต่จะเกิดการลงบัญชีที่ลูกค้าเอง ถ้าเขาใช้บาร์โค้ด หรือใช้เครื่องอีดีซี หรือผ่านมือถือจะลงบัญชีโดยอัตโนมัติ ส่วนสำนักงานบัญชีจะต้องเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำปรึกษา ว่าเอกสารประกอบการลงบัญชีต้องเป็นอย่างไร” นายประสงค์กล่าว

นายประสงค์กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำบัญชีอย่างถูกต้องจะทำให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม อย่างไรก็ดียืนยันว่า การไปตรวจแนะนำจะเป็นการช่วยลงบัญชีให้ถูกต้อง ไม่ใช่การไปจับผิดผู้เสียภาษี หรือไปตรวจย้อนหลัง

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะออกแนวปฏิบัติใหม่ โดยหากพบว่ามีการใช้ใบกำกับภาษีปลอมโดยเจตนา แม้แต่เพียงใบเดียว ก็จะถูกดำเนินคดีอาญา มีทั้งโทษปรับและจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ต่อ 1 ใบ) รวมแล้วไม่เกิน 20 ปี จากเดิมที่กำหนดว่ามีใบกำกับภาษีปลอม 75% จึงจะดำเนินคดีอาญา ซึ่งโทษจะเหมือนกันทั้งผู้เสียภาษี และสำนักงานบัญชีที่กระทำผิด

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวด้วยว่าสถานการณ์เก็บรายได้ปีงบประมาณ 2560 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. กรมสรรพากรเก็บรายได้ภาษีต่ำกว่าประมาณการไปกว่า 4 หมื่นล้านบาท