BITE SIZE : เปิดอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ทั่วประเทศปรับขึ้น 2-16 บาท

Prachachat BITE SIZE
โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

มติบอร์ดค่าจ้างครั้งล่าสุด ยืนยันขึ้นค่าแรงอัตราใหม่ มีผล 1 มกราคม 2567 และหลังจากนั้นจะคำนวณสูตรใหม่ และขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งในช่วงเดือนเมษายน 2567 เท่ากับในปีหน้า จะมีการขึ้นค่าแรงถึง 2 ครั้ง และมีการปรับสูตรคำนวณใหม่ในรอบ 6 ปี

โดยก่อนหน้านี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ดึงเรื่องออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำมาทบทวนใหม่

และแม้ว่าจะมีข้อทักท้วงจากนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเสนอให้มีการปรับสูตรคำนวณใหม่ มติล่าสุดของคณะกรรมการค่าจ้าง ยังยืนยันมติเดิม คือ ปรับขึ้น 2-16 บาท ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำจะขยับขึ้นเป็น ต่ำสุด 330 บาท สูงสุด 370 บาท

Prachachat BITE SIZE สรุปเรื่องนี้ให้เข้าใจพร้อมกัน

ที่มาที่ไป ปรับขึ้นค่าจ้าง 2-16 บาท

ย้อนกลับไปเมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และรายงานให้ ครม. รับทราบ เพื่อให้ประกาศบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

และในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2567 แบ่งเป็น 17 อัตรา ตั้งแต่ 330-370 บาท ปรับขึ้น 2-16 บาท ในแต่ละจังหวัด คิดเป็นตัวเลขเฉลี่ย ร้อยละ 2.37 และเตรียมเสนอให้ ครม. รับทราบ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566

โดยเหตุผลการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ เพื่อให้แรงงานสามารถดํารงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

ทันทีที่มีการแถลงมติบอร์ดค่าจ้างครั้งนั้นออกมา ทั้งนายกฯ เศรษฐา และบรรดาภาคแรงงาน ก็เรียกร้องว่า การปรับขึ้นค่าแรง ควรแฟร์มากกว่านี้ และควรอยู่ในระดับที่ดูแลแรงงานได้ แต่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย ที่จะเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการค่าจ้าง

สุดท้าย การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง นัดล่าสุด เมื่อ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า ปรับขึ้นตามมติเดิมคือ 2-16 บาท ทั่วประเทศ

ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2567 นี้ ยังไปไม่ถึงตัวเลข 400 บาทต่อวัน ตามนโยบายที่นายเศรษฐา เคยแถลงต่อร้ฐสภาตั้งแต่กันยายน 2566 ที่ผ่านมาไว้ว่า จะปรับค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 400 บาทให้ได้โดยเร็วที่สุด และยังมีนโยบายของพรรคเพื่อไทยเอง ที่เคยหาเสียงไว้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำ จะเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570

“คณะกรรมการค่าจ้าง” คือใคร ?

หลายคนสงสัยว่า คณะกรรมการค่าจ้าง คือใคร ? แล้วตัวเลขเศรษฐกิจอะไรบ้าง ที่นำมาคิด พิจารณาค่าแรง
คณะกรรมการค่าจ้าง หรือที่เราเคยได้ยินว่า คณะกรรมการไตรภาคี เป็นคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำ โดยมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ และมีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล 4 คน ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน รวมเป็น 15 คน

ขณะที่การพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ คณะกรรมการค่าจ้าง จะพิจารณาจากตัวเลข 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง ทั้งค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ราคาสินค้า
  • กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นตันทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจและผลิตภาพแรงงาน
  • กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นตัวเลข GDP GPP และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและจังหวัด

โดยคณะกรรมการค่าจ้าง จะทำการพิจารณากำหนดและทบทวนค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด และจัดทำเป็นประกาศ เพื่อลงนาม และเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

แต่ละจังหวัด ค่าแรงเพิ่มขึ้นเท่าไร ?

สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน ปี 2567 ที่คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 เคาะไปรอบแรก มีทั้งหมด 17 อัตรา ดังนี้

1. 370 บาท 1 จังหวัด

  • จังหวัดภูเก็ต (เดิม 354 บาท)

2. 363 บาท 6 จังหวัด

  • กรุงเทพมหานคร (เดิม 353 บาท)
  • จังหวัดนครปฐม (เดิม 353 บาท)
  • นนทบุรี (เดิม 353 บาท)
  • ปทุมธานี (เดิม 353 บาท)
  • สมุทรปราการ (เดิม 353 บาท)
  • สมุทรสาคร (เดิม 353 บาท)

3. 361 บาท 2 จังหวัด

  • ชลบุรี (เดิม 354 บาท)
  • ระยอง (เดิม 354 บาท)

4. 352 บาท 1 จังหวัด

  • นครราชสีมา (เดิม 340 บาท)

5. 351 บาท 1 จังหวัด

  • สมุทรสงคราม (เดิม 338 บาท)

6. 350 บาท 6 จังหวัด

  • พระนครศรีอยุธยา (เดิม 343 บาท)
  • สระบุรี (เดิม 340 บาท)
  • ฉะเชิงเทรา (เดิม 345 บาท)
  • ปราจีนบุรี (เดิม 340 บาท)
  • ขอนแก่น (เดิม 340 บาท)
  • เชียงใหม่ (เดิม 340 บาท)

7. 349 บาท 1 จังหวัด

  • ลพบุรี (เดิม 340 บาท)

8. 348 บาท 3 จังหวัด

  • สุพรรณบุรี (เดิม 340 บาท)
  • นครนายก (เดิม 338 บาท)
  • หนองคาย (เดิม 340 บาท)

 

9. 347 บาท 2 จังหวัด

  • กระบี่ (เดิม 340 บาท)
  • ตราด (เดิม 340 บาท)

10. 345 บาท 15 จังหวัด

  • กาญจนบุรี (เดิม 335 บาท)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (เดิม 335 บาท)
  • สุราษฎร์ธานี (เดิม 340 บาท)
  • สงขลา (เดิม 340 บาท)
  • พังงา (เดิม 340 บาท)
  • จันทบุรี (เดิม 338 บาท)
  • สระแก้ว (เดิม 335 บาท)
  • นครพนม (เดิม 335 บาท)
  • มุกดาหาร (เดิม 338 บาท)
  • สกลนคร (เดิม 338 บาท)
  • บุรีรัมย์ (เดิม 335 บาท)
  • อุบลราชธานี (เดิม 340 บาท)
  • เชียงราย (เดิม 332 บาท)
  • ตาก (เดิม 332 บาท)
  • พิษณุโลก (เดิม 335 บาท)

11. 344 บาท 3 จังหวัด

  • เพชรบุรี (เดิม 335 บาท)
  • ชุมพร (เดิม 332 บาท)
  • สุรินทร์ (เดิม 335 บาท)

12. 343 บาท 3 จังหวัด

  • ยโสธร (เดิม 335 บาท)
  • ลำพูน (เดิม 332 บาท)
  • นครสวรรค์ (เดิม 335 บาท)

13. 342 บาท 5 จังหวัด

  • นครศรีธรรมราช (เดิม 332 บาท)
  • บึงกาฬ (เดิม 335 บาท)
  • กาฬสินธุ์ (เดิม 338 บาท)
  • ร้อยเอ็ด (เดิม 335 บาท)
  • เพชรบูรณ์ (เดิม 335 บาท)

14. 341 บาท 5 จังหวัด

  • ชัยนาท (เดิม 335 บาท)
  • สิงห์บุรี (เดิม 332 บาท)
  • พัทลุง (เดิม 335 บาท)
  • ชัยภูมิ (เดิม 332 บาท)
  • อ่างทอง (เดิม 335 บาท)

15. 340 บาท 16 จังหวัด

  • ระนอง (เดิม 332 บาท)
  • สตูล (เดิม 332 บาท)
  • เลย (เดิม 335 บาท)
  • หนองบัวลำภู (เดิม 332 บาท)
  • อุดรธานี (เดิม 328 บาท)
  • มหาสารคาม (เดิม 332 บาท)
  • ศรีสะเกษ (เดิม 332 บาท)
  • อำนาจเจริญ (เดิม 332 บาท)
  • แม่ฮ่องสอน (เดิม 332 บาท)
  • ลำปาง (เดิม 332 บาท)
  • สุโขทัย (เดิม 332 บาท)
  • อุตรดิตถ์ (เดิม 335 บาท)
  • กำแพงเพชร (เดิม 332 บาท)
  • พิจิตร (เดิม 332 บาท)
  • อุทัยธานี (เดิม 332 บาท)
  • ราชบุรี (เดิม 332 บาท)

16. 338 บาท 4 จังหวัด

  • ตรัง (เดิม 332 บาท)
  • น่าน (เดิม 328 บาท)
  • พะเยา (เดิม 335 บาท)
  • แพร่ (เดิม 332 บาท)

17. 330 บาท 3 จังหวัด

  • นราธิวาส (เดิม 328 บาท)
  • ปัตตานี (เดิม 328 บาท)
  • ยะลา (เดิม 328 บาท)

เตรียมปรับสูตรคำนวณค่าจ้าง รอบ 6 ปี

ในปี 2567 หน้า มีการปรับขึ้นค่าแรงทั้งหมด 2 ครั้ง และจะมีการปรับสูตรคำนวณค่าจ้างในรอบ 6 ปี

โดยนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ระบุว่า จะมีการตั้งอนุกรรมการค่าจ้าง เพื่อพิจารณาปรับสูตรค่าจ้างใหม่ ในวันที่ 17 มกราคม 2567 ขณะที่การปรับค่าจ้างครั้งที่ 2 จะเป็นช่วงใด ก็จะต้องดูตามเวลาดำเนินงาน พร้อมกับดูว่าจะมีไตรภาคีเสนอเรื่องนี้มาหรือไม่ด้วย

ฉะนั้น ปีหน้า ต้องจับตาการปรับสูตรคำนวณค่าแรงขั้นต่ำ ว่าจะออกมาในทิศทางไหน และจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.34 ได้ที่ https://youtu.be/e2to_XAOTOw