ประกันสังคม ชี้แจงไม่มีการยกเลิกระบบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

“ประกันสังคม” ชี้แจง ไม่ยกเลิกระบบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม แต่การเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมตามที่เป็นข่าวเป็นร่างเดิมที่มีการเสนอแก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2565 โดยกำหนดไว้ 2 วิธี การเลือกตั้ง หรือวิธีการสรรหา

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงประเด็นที่สื่อสังคมออนไลน์ได้โพสต์ว่า “กระทรวงแรงงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมที่ให้บอร์ดใช้ระบบแต่งตั้งกรรมการเหมือนเดิม” อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตถึงการพยายามยกเลิกระบบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ซึ่งผู้ประกันตนอาจถูกผลักดันโดยกลุ่มอำนาจเก่าของกระทรวงแรงงานที่ฝังรากอยู่มาอย่างยาวนาน ว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง

นางมารศรี ใจรังษี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. มีการแก้ไขที่มาของการได้มาคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน และนายจ้างไม่ได้เพิ่งเสนอแก้ไข หลังจากมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมตามที่เป็นข่าว

แต่เป็นร่างเดิมที่เคยเสนอแก้ไขไว้ตั้งแต่ปี 2565 แต่ตอนนั้นต้องตกไป เพราะมีการยุบสภาในปี 2566 โดยวิธีการได้มาซึ่งกรรมการให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี นั้น มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการจากเดิมที่กำหนดให้กรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง เป็นวิธีการสรรหาแต่อย่างใด เพราะในร่างมาตรา 8 ได้กำหนดวิธีการได้มาไว้ 2 วิธี ได้แก่ 1) การเลือกตั้ง หรือ 2) วิธีการสรรหา

โดยเหตุผลที่กำหนดเช่นนี้ เนื่องจากหากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่น ในกรณีเกิดโรคระบาด หรือกรณีเกิดภัยพิบัติ ทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เพื่อให้การบริหารกองทุนไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรรมการหมดวาระลง (บอร์ดรักษาการ) จะไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบในบางเรื่องได้

จึงกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถประกาศกำหนดวิธีการอื่น เช่น การสรรหาคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนได้

ทั้งนี้ หลักการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนยังคงมีอยู่เช่นเดิม ประกอบกับในการเสนอร่างกฎหมาย ทุกขั้นตอนมีการเผยแพร่และผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทั้งในชั้นก่อนเสนอเข้า ครม. และชั้นการตรวจร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา