ใช้สิทธิประกันสังคม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี ต้องทำอย่างไร ?

เข็มฉีดยา
ภาพจาก : กระทรวงสาธารณสุข (แฟ้มภาพประกอบข่าว ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาในข่าว)

หน้าร้อนเป็นเวลาเสี่ยงสำหรับโรคพิษสุนัขบ้า หากโดนสุนัขหรือแมวกัด ให้รีบฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี โดยใช้สิทธิประกันสังคม เช็กเงื่อนไขที่นี่

วันที่ 17 มีนาคม 2567 สำนักงานประกันสังคมประกาศข่าวดี ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะอันตรายของโรคพิษสุนัขบ้า ถึงชีวิต

ช่วงหน้าร้อนมักเป็นเวลาเสี่ยงกับโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าช่วงอื่น ๆ โดยโรคนี้เป็นโรคที่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ที่มีความรุนแรงมากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด รวมถึงคนด้วย การติดเชื้อทำให้ระบบประสาทถูกทำลายและตายได้ โดยในประเทศไทยพบการติดเชื้อในสุนัข แมว และมนุษย์อยู่ทุกปี

พาหะโรคพิษสุนัขบ้านอกจากสุนัขและแมวแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เช่น ลิง กระรอก กระต่าย หรือหนู ก็สามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือแม้กระทั่งน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล หรือเข้าตา จมูก ปาก ก็ต้องรักษาด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น แม้จะเป็นผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

โรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้เสียชีวิตได้ คนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 100% หากไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่ถูกต้อง หลังจากถูกกัดหรือสัมผัสเชื้อ ดังนั้น หากถูกสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที

สิทธิประกันสังคมให้ความคุ้มครอง

หากเป็นผู้ประกันตน สิทธิประกันสังคมให้ความคุ้มครองสามารถเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนรักษาหลังจากได้รับไวรัสพิษสุนัขบ้าโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (แต่หากเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค จะไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้)

เข็มแรก : กรณีฉุกเฉิน (หลังสัมผัสโรค) หากไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ได้ ก็สามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสถานพยาบาลอื่น ๆ ได้ โดยให้ผู้ประกันตนสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินพร้อมกับใบรับรองแพทย์ไปยื่นเรื่องเบิกเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคม ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท

เข็มต่อไป : เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากผู้ประกันตนไม่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองและเบิกไม่ได้

เช็กอาการสัตว์เลี้ยงที่ติดพิษสุนัขบ้า

แบบก้าวร้าว สัตว์จะแสดงอาการดุร้าย ไล่กัดคน สัตว์อื่น ๆ หรือทุกอย่างที่ขวางหน้า อาการนี้จะอยู่เพียง 2-3 วันเท่านั้น จากนั้นจะเริ่มเซื่องซึม เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้

แบบเซื่องซึม สัตว์จะไม่มีอาการดุร้าย แต่จะข้ามขั้นไปที่แสดงอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร จะอ้าปากไม่ยอมหุบ และลิ้นจะเริ่มเป็นสีแดงคล้ำ

คำเตือน : หากมีการอย่างน้อย 2-3 อาการ ให้สงสัยว่าสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

คนติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ไหม ?

ได้แน่นอน หากถูกสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือน้ำลาย เลือดของสัตว์สัมผัสผิวหนังที่มีแผล เข้าหู ตา จมูก ปาก โดยในคนจะแสดงอาการคล้ายกับสัตว์ ดังนี้

อาการระยะแรก : เริ่มมีไข้ อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน ถ้าหากถูกกัดจะคันและรู้สึกชาบริเวณแผล

อาการระยะที่ 2 : เริ่มกลัวน้ำ กินน้ำลำบาก อาจมีการพ่นน้ำลายออกมา อีกทั้งไม่ชอบแสงสว่าง เสียงดัง และที่รุนแรงเลยคืออาการไม่อยากเข้าใกล้คนอื่น ส่งผลถึงระบบประสาทจนเกิดอาการคลุ้มคลั่ง อาละวาดได้ และทำให้เกิดอัมพาตในที่สุด

อาการระยะที่ 3 : ไม่รู้สึกตัวและโคม่า

คำเตือน : หากไม่ได้รับการรักษา อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

หากโดนสุนัขกัดต้องทำอย่างไร ?

  • ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที
  • เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือน้ำเกลือ เพื่อฆ่าเชื้อ
  • รีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือ โทร.สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกันสังคมให้สิทธฉีดรักษาโรคพิษสุนัขบ้า