10 จังหวัด ค่าแรง 400 บาท เริ่ม 13 เม.ย. นายจ้างต้องทำตามกฎหมาย

10 จังหวัด ค่าแรง 400 บาท 13 เม.ย.2567

ได้ค่าแรงอัตราใหม่รับสงกรานต์ แรงงาน 10 จังหวัด (ในบางพื้นที่) รับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เริ่มใช้ 13 เมษายน 2567 นายจ้างไม่จ่ายมีความผิดตามกฎหมาย

วันที่ 12 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 โดยมีผลวันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยใช้บังคับในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 400 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติในที่ประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22

ทั้งนี้ มติชนรายงานว่าได้มีการสอบถาม นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่า หลังจากประกาศใช้แล้ว จะมีลูกจ้างที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้างประมาณกี่คน นายไพโรจน์กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำลังรวบรวมข้อมูลว่าหลังจากมีการประกาศใช้ไปแล้วจะมีลูกจ้างที่ได้รับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กำหนดทั้งหมดกี่คน เพื่อนำรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ในวันที่ 17 เมษายน 2567 เชื่อว่าจะมีตัวเลขเบื้องต้นแล้ว

ถามต่อว่าเมื่อประกาศมีผลวันที่ 13 เมษายน 2567 หมายความว่านายจ้างต้องคิดค่าจ้างให้ลูกจ้างนับตั้งแต่วันดังกล่าวใช่หรือไม่ นายไพโรจน์กล่าวว่า นายจ้างรับทราบเรื่องการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทแล้ว ซึ่งระยะแรกจะมีการปรับในธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยวก่อน เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาตรงนี้

เมื่อถามว่าหากลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการตามเงื่อนไขที่กำหนดแต่ไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง ต้องทำอย่างไร นายไพโรจน์กล่าวว่า เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถือเป็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งลูกจ้างเองถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถติดต่อมายังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้

ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรม ระบุว่า ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567 และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่จ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างที่ทำงานประเภทกิจการโรงแรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (3) มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ .2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 และ มาตรา 87 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกจ้างทำงานในประเภทกิจการโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานที่พักเพื่อการท่องเที่ยวประเภทโรงแรมระดับการให้บริการ 4 ดาวขึ้นไป และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป

ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสื่ร้อยบาท ในท้องที่ ดังนี้
(1) กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน วัฒนา
(2) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนา
(3) จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา
(4) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
(5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน
(6) จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก
(7) จังหวัดภูเก็ต
(8) จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลเพ
(9) จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่
(10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตเทศบาลนครเกาะสมุย

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้างซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม

(1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

(2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไมใช่งานตาม (1)

ข้อ 4 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราวันละสี่ร้อยบาท

ข้อ 5 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2567
ไพโรจน์ โชติกเสถียร
ปลัดกระทรวงแรงงาน
ประธานกรรมการค่าจ้าง