ครม.เคาะแล้ว ขึ้นค่าแรง 400 บาท ย้อนดูเหตุผล และจับตาดูก้าวต่อไป

Photo: Ashwini Chaudhary (Monty)/unsplash
Photo: Ashwini Chaudhary (Monty)/unsplash

ครม. เคาะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบที่ 2 ของปี 2567 อัตรา 400 บาทต่อวัน เจาะจงธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป นำร่องบางพื้นที่ใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว บังคับใช้ 13 เม.ย. 2567 เป็นของขวัญสงกรานต์

ย้อนดูค่าแรงเก่า ขึ้นรอบที่ 1 ปี 2567

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ชุดที่ 22 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากอัตราเดิม (ที่มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565) โดยการปรับขึ้น 2-16 บาททั่วประเทศ แบ่งเป็น 17 ขั้น​ เริ่มจาก 330 บาท และสูงสุด 370 บาท โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อวัน (รอบที่ 1/2567) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ดังนี้

  • 370 บาท 1 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต (เดิม 354 บาท)
  • 363 บาท 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร (เดิม 353 บาท) จังหวัดนครปฐม (เดิม 353 บาท) นนทบุรี (เดิม 353 บาท) ปทุมธานี (เดิม 353 บาท) สมุทรปราการ (เดิม 353 บาท) และสมุทรสาคร (เดิม 353 บาท)
  • 361 บาท 2 จังหวัด คือ ชลบุรี (เดิม 354 บาท) และระยอง (เดิม 354 บาท)
  • 352 บาท 1 จังหวัด คือ นครราชสีมา (เดิม 340 บาท)
  • 351 บาท 1 จังหวัด คือ สมุทรสงคราม (เดิม 338 บาท)
  • 350 บาท 6 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา (เดิม 343 บาท) สระบุรี (เดิม 340 บาท) ฉะเชิงเทรา (เดิม 345 บาท) ปราจีนบุรี (เดิม 340 บาท) ขอนแก่น (เดิม 340 บาท) และเชียงใหม่ (เดิม 340 บาท)
  • 349 บาท 1 จังหวัด คือ ลพบุรี (เดิม 340 บาท)
  • 348 บาท 3 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี (เดิม 340 บาท) นครนายก (เดิม 338 บาท) และหนองคาย (เดิม 340 บาท)
  • 347 บาท 2 จังหวัด คือ กระบี่ (เดิม 340 บาท) และตราด (เดิม 340 บาท)
  • 345 บาท 15 จังหวัด คือ กาญจนบุรี (เดิม 335 บาท) ประจวบคีรีขันธ์ (เดิม 335 บาท) สุราษฎร์ธานี (เดิม 340 บาท) สงขลา (เดิม 340 บาท) พังงา (เดิม 340 บาท) จันทบุรี (เดิม 338 บาท) สระแก้ว (เดิม 335 บาท) นครพนม (เดิม 335 บาท) มุกดาหาร (เดิม 338 บาท) สกลนคร (เดิม 338 บาท) บุรีรัมย์ (เดิม 335 บาท) อุบลราชธานี (เดิม 340 บาท) เชียงราย (เดิม 332 บาท) ตาก (เดิม 332 บาท) พิษณุโลก (เดิม 335 บาท)
  • 344 บาท 3 จังหวัด คือ เพชรบุรี (เดิม 335 บาท) ชุมพร (เดิม 332 บาท) สุรินทร์ (เดิม 335 บาท)
  • 343 บาท 3 จังหวัด คือ ยโสธร (เดิม 335 บาท) ลำพูน (เดิม 332 บาท) นครสวรรค์ (เดิม 335 บาท)
  • 342 บาท 5 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช (เดิม 332 บาท) บึงกาฬ (เดิม 335 บาท) กาฬสินธุ์ (เดิม 338 บาท) ร้อยเอ็ด (เดิม 335 บาท) เพชรบูรณ์ (เดิม 335 บาท)
  • 341 บาท 5 จังหวัด คือ ชัยนาท (เดิม 335 บาท) สิงห์บุรี (เดิม 332 บาท) พัทลุง (เดิม 335 บาท) ชัยภูมิ (เดิม 332 บาท) และอ่างทอง (เดิม 335 บาท)
  • 340 บาท 16 จังหวัด ระนอง (เดิม 332 บาท) สตูล (เดิม 332 บาท) เลย (เดิม 335 บาท) หนองบัวลำภู (เดิม 332 บาท) อุดรธานี (เดิม 340) มหาสารคาม (เดิม 332 บาท) ศรีสะเกษ (เดิม 332 บาท) อำนาจเจริญ (เดิม 332 บาท) แม่ฮ่องสอน (เดิม 332 บาท) ลำปาง (เดิม 332 บาท) สุโขทัย (เดิม 332 บาท) อุตรดิตถ์ (เดิม 335 บาท) กำแพงเพชร (เดิม 332 บาท) พิจิตร (เดิม 332 บาท) อุทัยธานี (เดิม 332 บาท) และราชบุรี (เดิม 332 บาท)
  • 338 บาท 4 จังหวัด คือ ตรัง (เดิม 332 บาท) น่าน (เดิม 328 บาท) พะเยา (เดิม 335 บาท) แพร่ (เดิม 332 บาท)
  • 330 บาท 3 จังหวัด คือ นราธิวาส (เดิม 328 บาท) ปัตตานี (เดิม 328 บาท) และยะลา (เดิม 328 บาท)

ไทม์ไลน์-ที่มา ขึ้นค่าแรงรอบสอง

หลังจากมีมติขึ้นค่าแรงตามอัตราข้างต้น ได้รับเสียงตอบรับจากหลายภาคส่วนว่า “เป็นอัตราที่น้อยเกินไป” จึงได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการไตรภาคีอีกครั้ง

วันที่ 17 มกราคม 2567 เป็นการพิจารณาแต่งตั้งอนุกรรมการปรับปรุงสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาสูตรที่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เนื่องจากสูตรเก่าไม่ได้พิจารณาปรับใหม่มาเป็นระยะเวลานาน 10 ปี

ซึ่งคณะอนุกรรมการปรับปรุงสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ มีจำนวน 17 คน คือ จากภาครัฐ แต่งตั้งให้รองปลัดกระทรวงเป็นประธาน มีผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อรวมกับของฝ่ายนายจ้าง 5 คนฝ่ายลูกจ้าง 5 คน รวมเป็น 17 คน

หลังจากนั้น นับตั้งแต่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 มีการเรียกประชุมคณะอนุกรรมการปรับปรุงสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อพิจารณาปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อเนื่อง โดยพิจารณาข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ วิเคราะห์และทบทวนตัวแปรในเชิงปริมาณและคุณภาพในการนำเสนอ ตลอดจนการพิจารณามาตรฐานค่าครองชีพของลูกจ้าง เพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ด้วย

นำร่องธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป

จนวันที่ 26 มีนาคม 2567 คณะกรรมการค่าจ้างนัดประชุม ลงมติเห็นชอบปรับค่าจ้างขั้นต่ำรอบที่ 2 เป็นวันละ 400 บาท และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยนำร่องที่ธุรกิจโรงแรมที่พักระดับ 4 ดาวขึ้นไป ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ในพื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นทั้งจังหวัด แต่ขึ้นบางพื้นที่ โดยมีจังหวัดภูเก็ตเท่านั้นที่ขึ้นทั้งจังหวัด ดังนี้

1) กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวันและเขตวัฒนา

2) จังหวัดกระบี่ เฉพาะเขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง

3) จังหวัดชลบุรี เฉพาะเขตเมืองพัทยา

4) จังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะเขตเทศบาลนครเชียงใหม่

5) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะเขตเทศบาลหัวหิน

6) จังหวัดพังงา เฉพาะเขตเทศบาลตำบลคึกคัก

7) จังหวัดภูเก็ต (ทั้งจังหวัด)

8) จังหวัดระยอง เฉพาะเขตตำบลบ้านเพ

9) จังหวัดสงขลา เฉพาะเขตเทศบาลนครหาดใหญ่

10) จังหวัดสุราษฎร์ธานี เฉพาะเขตอำเภอเกาะสมุย

ครม. เคาะขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน 10 จังหวัด

วันที่ 2 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติของที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเภทกิจการโรงแรม นำร่องในพื้นที่ 10 จังหวัดท่องเที่ยว ในอัตราวันละ 400 บาท ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ขั้นตอนต่อไปจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 13 เมษายน 2567 นี้ เป็นของขวัญต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ได้ทันพอดี

จับตามองขึ้นค่าแรงครั้งต่อไปกลุ่มโลจิสติกส์

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะที่ธุรกิจการให้บริการที่พักแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง

และ 10 พื้นที่/จังหวัดดังกล่าวเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง คณะกรรมการค่าจ้างฯ จึงได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมครั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ชุดที่ 22 ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมโดยพิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้างสามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข

ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างจะได้มีการติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเภทกิจการโรงแรมเพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างด้วยความรอบคอบต่อไป

นายไพโรจน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับกลุ่มธุรกิจต่อไปที่จะมีการพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือกลุ่มธุรกิจภาคการส่งออก และโลจิสติกส์

กลุ่มผู้นำแรงงานร้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 กลุ่มแรงงานเดินทางไปกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 492 บาท หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ เคาะขึ้นค่าจ้างบางพื้นที่ใน 10 จังหวัด 400 บาท กลุ่มธุรกิจโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป

กลุ่มผู้นำแรงงาน ประกอบด้วย กลุ่มสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พร้อมด้วยแรงงานจำนวนหนึ่ง เดินทางไปกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน ขอให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

โดยหนังสือแถลงการณ์ระบุว่า จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ครั้งที่ผ่านมา สูงสุด 2-16 บาท ต่ำสุดอยู่ที่วันละ 330 บาท และสูงสุดวันละ 370 บาท ซึ่งสังคมเห็นพ้องกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับขึ้นอีก เพราะราคาสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตทุกหมวดแพงขึ้น

สมาพันธ์จึงออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 492 บาท โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ รวมถึงเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าและให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมลูกจ้างภาครัฐและเอกชน รวมถึงแรงงานภาคบริการ