แผนยุทธศาสตร์อุดมศึกษา เครือข่าย 33 มหาวิทยาลลัยเสนอรัฐบาลใหม่

ต้องยอมรับว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านมา ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทยอย่างล้นหลามกว่า 75% นับเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งจะตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาพัฒนาประเทศที่คนไทยทุกคนต่างตั้งตารอคอย

แต่กระนั้น เมื่อมองไส้ในของพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำให้พบว่าแทบจะไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอแผนปฏิรูปการศึกษาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ทั้งปัญหาการศึกษาคือปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ทั้งยังเป็นปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนาน

ทั้งในเรื่องของสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียมทางการศึกษา, การศึกษาชนบท, ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมไปถึงปัญหาการศึกษาของระบบอุปถัมภ์ในเมืองหลวง ที่ยังปล่อยให้เรื่องของ “ส่วยทางการศึกษา” เข้ามามีอิทธิพลของโรงเรียนดังต่าง ๆ

ทั้ง ๆ ที่ระบบการศึกษาของสากลพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ก่อนวันเลือกตั้ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร มีการจัดประชุมระดมสมองกลุ่มเครือข่ายผู้บริหารจากสถาบันอุดมศึกษา 33 แห่งในประเทศไทย รวมกว่า 179 คน เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอแนะแผนยุทธศาสตร์ต่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษา เพื่อตอบรับโลกยุคใหม่ โดยคาดว่าจะยื่นเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี
รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี

“รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี” อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ กล่าวว่า โลกปัจจุบัน และอนาคตเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย พร้อมสภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรที่มีจำกัด ไม่ว่าพรรคใดจะได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารประเทศ ต้องยึดประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และมุ่งสู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตรงนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และประชาคมโลก พรรคการเมือง และนักการเมืองควรใช้โอกาสในการเข้ามาทำงานบริหารประเทศในการเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และทุกระดับ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างความร่วมมือ สนับสนุนพัฒนาการศึกษา ทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี ทรัพยากร งบประมาณ และการนำงานวิจัยนวัตกรรมมาสู่การพัฒนาประเทศให้เป็นจริง

“ไม่ว่าจะเป็นฮับเกษตรอินทรีย์ ด้วยการนำงานวิจัย และนวัตกรรม อาหารมีคุณภาพและปลอดภัยแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ หรือการส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศ การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาผสมผสาน และพัฒนา soft power ต่าง ๆ ของไทยไปสู่ตลาดโลก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมดนตรี, กีฬา, ภาพยนต์ เป็นต้น”

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล

“ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการมุ่งหน้าการพัฒนาที่ต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ว่าด้วย 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย ซึ่งครบครันทุกมิติ และตอบรับอนาคตประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

“โดยสถาบันการศึกษาควรมุ่งเน้นหมุดหมายที่ 12 สร้างบุคลากรที่สมรรถนะสูง การทำแผนบูรณาการการพัฒนาศักยภาพกำลังคน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนหมุดหมายด้านอื่น ๆ ให้สำเร็จ”

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล

“ศาสตราจารย์ ดร.นพ.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล” รองอธิการบดีด้านยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นโยบายที่พรรคการเมืองนำเสนอในช่วงหาเสียงแทบทุกพรรค จะเน้นไปที่การเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังมีรายละเอียดในการบริหารจัดการงบประมาณ และประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นจริง

“แต่ทั้งนี้ ยังมีมิติอื่น ๆ อีกมากที่เกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษา โดยเฉพาะการสร้างระบบนิเวศของการขับเคลื่อนสร้างสรรค์งานวิจัย และต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมหลักสูตรและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย และเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา”

ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์
ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์

“ศาสตราจารย์ปฏิบัติ ดร.ชรินทร์ เตชะพันธุ์” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดทำข้อเสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษา ครั้งนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะในการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย และภูมิทัศน์ของทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ระดับโลก

“โดยเฉพาะประเด็นของผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย ยูเครน และความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ที่อาจส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายทรัพยากร และแรงงานทักษะชั้นสูงสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกัน จึงไม่ใช่แค่เป้าหมายแต่เพียงประชากรไทย แต่ยังหมายรวมถึงประชากรโลกด้วย”

ทั้งนั้นเพราะโลกทางการศึกษาต่างเชื่อมโยงเป็นเน็ตเวิร์กเข้าหากันทั้งหมด ดังนั้น หากแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษามีโอกาสทำให้รัฐบาลใหม่มองเห็นสิ่งดี ๆ ที่เครือข่าย 33 มหาวิทยาลัยนำเสนอ ก็เชื่อแน่ว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกของการศึกษาไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น

เพราะอย่างที่เครือข่าย 33 มหาวิทยาลัยสรุปตรงกันว่าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในด้านอุดมศึกษา สามารถนำไปใช้ในการบริหารประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทุกภาคส่วน ทั้งยังช่วยสนับสนุนส่งเสริมงานด้านอุดมศึกษาสู่การพัฒนาศักยภาพ และสมรรถนะของประชากรไทยอย่างทั่วถึงทุกคนต่อไปในอนาคต