ผลสำรวจ TDRI ตำแหน่งงานลด กระจุกตัวใน กทม. ไอทีต้องมีทักษะเพิ่ม

ทำงาน
Photo: sigmund/unsplash

TDRI เปิดผลสำรวจตลาดแรงงานด้วย big data พบไตรมาส 2 ปี 2566 ตำแหน่งงานลดลงและกระจุกตัว งานไอทียังต้องการทักษะหลากหลาย และต้องการทักษะภาษาคอมพิวเตอร์มากขึ้น

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” ของทีดีอาร์ไอ ได้พัฒนาระบบติดตามการจ้างงานในประเทศไทย โดยใช้ big data และการวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต่อยอดจากโครงการการจัดทำฐานข้อมูลความต้องการทักษะแรงงานด้วย big data เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา ที่สนับสนุนโดยกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2561

โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์ใช้ระบบอัตโนมัติในการเก็บข้อมูลประกาศหางานจาก 14 เว็บไซต์หางานในประเทศไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เว็บไซต์หางานระดับประเทศ 8 เว็บไซต์ เว็บไซต์หางานตามกลุ่มอาชีพเฉพาะ 5 เว็บไซต์ และเว็บไซต์หางานตามกลุ่มภูมิภาค 1 เว็บไซต์

ประกาศรับสมัครงานลดลง

ล่าสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 (1 เมษายน 2566-30 มิถุนายน 2566) พบว่ามีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 154,595 ตำแหน่งงาน ลดลงจากช่วงไตรมาสที่ผ่านมา 13.2% ที่มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 178,159 ตำแหน่งงาน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว 12.8%

ปริญญาตรีมีโอกาสงานสูง

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่า

  • มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวน 12,461 ตำแหน่ง (8.1%)
  • มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวน 10,792 ตำแหน่ง (7.0%)
  • ปวช. มีจำนวน 17,535 ตำแหน่ง (11.3%)
  • ปวส. มีจำนวน 11,535 ตำแหน่ง (7.5%)
  • ปริญญาตรี มีจำนวน 57,834 ตำแหน่งงาน (37.4%)
  • สูงกว่าปริญญาตรี มีจำนวน 1,573 ตำแหน่งงาน (1.0%)
  • ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ มีจำนวน 42,865 ตำแหน่งงาน (27.7%)

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพที่ต้องการทักษะจำเพาะ เช่น กลุ่มงานไอที วิศวกร จะต้องการวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกลุ่มอาชีพที่ต้องการวุฒิการศึกษาระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีจะมีแค่กลุ่มอาชีพการตลาด บัญชี / การเงิน วิศวกร ไอที ครู / ครูสอนพิเศษ และสถาปนิก

Advertisment

งานกระจุกตัว กรุงเทพฯ-ปริมณฑล

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด 103,583 ตำแหน่งงาน (67.0%) ตามด้วยไม่ระบุภูมิภาค 26,345 ตำแหน่งงาน (17.0%) ภาคตะวันออก 9,924 ตำแหน่งงาน (6.4%) ภาคใต้ 5,394 ตำแหน่งงาน (3.5%) ภาคกลาง 4,023 ตำแหน่งงาน (2.6%) ภาคเหนือ 3,199 ตำแหน่งงาน (2.1%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,634 ตำแหน่งงาน (1.1%) และภาคตะวันตก 493 ตำแหน่งงาน (0.3%)

ขายส่ง-ขายปลีก-ยานยนต์ ต้องการคนมาก

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มประเภทธุรกิจที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน อ้างอิงข้อมูลจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการช่วยจำแนกข้อมูล พบว่า

Advertisment
  • การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์มีจำนวนมากที่สุด 27,583 ตำแหน่งงาน (17.8%)
  • ไม่สามารถระบุได้ 24,834 ตำแหน่งงาน (16.1%)
  • การผลิต 18,423 ตำแหน่งงาน (11.9%)
  • กิจกรรมทางวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และเทคนิค 14,634 ตำแหน่งงาน (9.5%)
  • กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน 13,644 ตำแหน่งงาน (8.8%)
  • ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 11,638 ตำแหน่งงาน (7.5%)
  • กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 10,363 ตำแหน่งงาน (6.7%)
  • ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 7,345 ตำแหน่งงาน (4.8%)
  • กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 7,284 ตำแหน่งงาน (4.7%)
  • การก่อสร้าง 6,834 ตำแหน่งงาน (4.4%)
  • การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 5,104 ตำแหน่งงาน (3.3%)
  • กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ 2,184 ตำแหน่งงาน (1.4%)
  • กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 1,534 ตำแหน่งงาน (1.0%)
  • ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ 1,245 ตำแหน่งงาน (0.8%)
  • การศึกษา 1,023 ตำแหน่งงาน (0.7%)
  • กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 923 ตำแหน่งงาน (0.6%)

ตำแหน่งที่รับสมัครงานสูงสุด

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่า

  • การตลาด มีจำนวนมากที่สุด 28,535 ตำแหน่งงาน (18.5%)
  • บัญชี/การเงิน 27,143 ตำแหน่งงาน (17.6%)
  • ช่างเทคนิค 20,834 ตำแหน่งงาน (13.5%)
  • วิศวกร 19,472 ตำแหน่งงาน (12.6%)
  • งานไอที 12,836 ตำแหน่งงาน (8.3%)
  • ไม่สามารถระบุได้ 11,347 ตำแหน่งงาน (7.3%)
  • ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง 10,434 ตำแหน่งงาน (6.7%)
  • งานฝ่ายบุคคล 6,486 ตำแหน่งงาน (4.2%)
  • ตำแหน่งงานอื่น ๆ 4,058 ตำแหน่งงาน (2.6%)
  • พนักงานขายของ 3,783 ตำแหน่งงาน (2.4%)
  • พนักงานคิดเงิน 1,943 ตำแหน่งงาน (1.3%)
  • ครู/ครูสอนพิเศษ 1,434 ตำแหน่งงาน (0.9%)
  • แม่บ้าน 1,353 ตำแหน่งงาน (0.9%)
  • นักแปล/ล่าม 1,353 ตำแหน่งงาน (0.9%)
  • นักออกแบบกราฟิก 1,253 ตำแหน่งงาน (0.8%)
  • สถาปนิก 1,188 ตำแหน่งงาน (0.8%)
  • คนขับรถ 1,143 ตำแหน่งงาน (0.7%)

ทักษะจำเพาะที่จำเป็นต้องมี

เมื่อจำแนกเฉพาะตำแหน่งงานในกลุ่มไอทีจากจำนวน 12,836 ตำแหน่งงาน และวิเคราะห์กลุ่มทักษะที่ต้องการ (1 ตำแหน่งงานมีทักษะที่ต้องการมากกว่า 1 ทักษะ) พบว่า กลุ่มงานไอทีต้องการทักษะภาษาคอมพิวเตอร์มากที่สุด แต่ยังต้องการทักษะที่หลากหลายในด้านอื่นเช่นกัน ดังนี้

  • ทักษะภาษาคอมพิวเตอร์เป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุด 12,294 ตำแหน่งงาน (95.8%)
  • เฟรมเวิร์คการพัฒนาซอฟต์แวร์ 11,931 ตำแหน่งงาน (92.9%)
  • เทคโนโลยีคลาวด์ 10,485 ตำแหน่งงาน (81.7%)
  • ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล 7,841 ตำแหน่งงาน (61.1%)
  • เครื่องมือติดตั้งระบบ 7,064 ตำแหน่งงาน (55.0%)
  • ซอฟต์แวร์องค์กร 6,187 ตำแหน่งงาน (48.2%)
  • ความปลอดภัยระบบ 5,385 ตำแหน่งงาน (42.0%)
  • ระเบียบวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ 4,734 ตำแหน่งงาน (36.9%)
  • การวิเคราะห์ข้อมูล 3,768 ตำแหน่งงาน (29.4%)
  • และการออกแบบการใช้งาน 1,784 ตำแหน่งงาน (13.9%)

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เฉพาะภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเขียนโปรแกรมที่มีความต้องการ พบว่า

  • ภาษา java-script 11,493 ตำแหน่งงาน (93.5%)
  • ภาษา java 8,955 ตำแหน่งงาน (72.8%)
  • ภาษา python 7,973 ตำแหน่งงาน (64.9%)
  • ภาษา node.js 7,912 ตำแหน่งงาน (64.4%)
  • ภาษา swift 7,845 ตำแหน่งงาน (63.8%)
  • ภาษา php 4,015 ตำแหน่งงาน (32.7%)
  • ภาษา R 2,583 ตำแหน่งงาน (21.0%)
  • ภาษา C 1,593 ตำแหน่งงาน (13.0%)
  • ภาษา objective-c 1,049 ตำแหน่งงาน (8.5%)

เมื่อเปรียบเทียบความต้องการของทักษะภาษาคอมพิวเตอร์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว พบว่าภาษาคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่มีความต้องการมากขึ้น ยกเว้นภาษา C และ php

และเมื่อวิเคราะห์วุฒิการศึกษาขั้นต่ำของกลุ่มไอทีพบว่ามีประกาศรับสมัครงานวุฒิ ปวช. 1,396 ตำแหน่งงาน (10.9%) ปวส. 467 ตำแหน่งงาน (3.6%) ปริญญาตรี 6,934 ตำแหน่งงาน (54.0%) สูงกว่าปริญญาตรี 187 ตำแหน่งงาน (1.5%) และที่ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำมีจำนวน 3,852 ตำแหน่งงาน (30.0%)

เมื่อดูกระจายตัวของตำแหน่งงานกลุ่มไอทีตามภูมิภาคต่าง ๆ เทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ พบว่ามีตำแหน่งงานของกลุ่มไอทีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็น 64.0% ของตำแหน่งงานไอทีเทียบกับ 67.0% ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตำแหน่งงานของกลุ่มไอทีมีการกระจายตัวใกล้เคียงกับตำแหน่งงานอื่น ๆ

โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงานมีทักษะและทักษะต่าง ๆ ของแรงงานที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยใช้ Big Data จากประกาศรับสมัครงานของนายจ้าง ซึ่งมีความละเอียดสูงและทันสมัย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตลอดจนมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวะศึกษาต่าง ๆ ที่ผลิตบุคลากรป้อนตลาดแรงงาน