KFC Green Store ปรับพฤติกรรมลูกค้าใส่ใจรักษ์โลก

KFC

KFC ถือเป็นแบรนด์ธุรกิจอาหารบริการด่วน (quick service restaurant : QSR) ที่มีการเติบโตที่ดี และก้าวกระโดด จนกลายเป็นแบรนด์แรก และแบรนด์เดียวในไทยที่มีสาขามากถึง 1,000 สาขา ผ่านโมเดลของ 3 แฟรนไชส์

เดอะ คิว เอส อาร์ ออฟ เอเชีย ภายใต้กลุ่มธุรกิจอาหารของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในสามของแฟรนไชซีแบรนด์ ปัจจุบันมีจำนวน 449 สาขา โดยจำนวนนี้มี 2 สาขาที่เป็น green store คือสาขาแสงโสม วิภาวดี กรุงเทพฯ และสาขาดีโป บาย วนชัย อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

โดยเฉพาะสาขาดีโป บาย วนชัย จังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นสาขาที่มีความเป็นกรีนแบบครบวงจรมากที่สุด ตั้งแต่การออกแบบร้าน จนถึงการให้บริการ และล่าสุดเพิ่งมีการเปิดตัวสถานีชาร์จ “EleX by EGAT” ให้บริการผู้ใช้รถ EV โดยร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ศสัย ตังเดชะหิรัญ
ศสัย ตังเดชะหิรัญ

KFC Green store สาขาแรก

“ศสัย ตังเดชะหิรัญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ คิว เอส อาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า KFC Green store สาขา ดีโป บาย วนชัย ถือเป็นสาขาแรกของ KFC ประเทศไทย ใช้งบฯก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 17-20 ล้านบาท

ทั้งร้านมีการตกแต่งด้วยวัสดุรีไซเคิล เลือกใช้วัสดุที่ผลิตจากเศษไม้เหลือทิ้งจากการแปรรูป หรือที่เรียกว่า oriented strand board (OSB) มาเป็นวัสดุหลักในการสร้างและตกแต่งร้าน รวมถึงนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทั้งโต๊ะ เก้าอี้ เพื่อลดการสร้างขยะ และลดการใช้ไม้จริง

อีกทั้งยังมีการพัฒนาร่วมกับบริษัทอาหารเสริม ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทยเบฟฯ ด้วยการนำกากชา และกากมอลต์ที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตชาเขียว และเบียร์ของไทยเบฟ มาเป็นส่วนผสมในการผลิตหินเทียมสำหรับใช้ทำเคาน์เตอร์หินภายในร้าน ซึ่งสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบทดแทนการใช้หินจากธรรมชาติได้ถึง 20%

นอกจากนั้น ยังติดตั้ง solar rooftop เพื่อลดการใช้พลังงาน ไม่ปล่อยมลพิษ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่ไม่เพียงจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้า หากไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังนำมาใช้กับระบบไฟส่องสว่างภายในร้าน ซึ่งคาดว่าจะลดการใช้พลังงานถึงปีละ 13,000 หน่วย และลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าถึง 10-15%

“ส่วนตัวไก่ที่นำมาเป็นวัตถุดิบ ก็ไม่มีการตัดแต่งหรือสังเคราะห์ใด ๆ เป็นไก่จากธรรมชาติล้วน ๆ ส่วนน้ำมันที่ใช้ทอดก็เป็นน้ำมันปาล์มยั่งยืนที่ผ่านมาตรฐานสากล ไม่เพียงเท่านี้ เรายังมีการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เช่น เปลี่ยนถ้วยซอสพลาสติกเป็นถ้วยซอสกระดาษ ปรับเพิ่มความหนาของถุงพลาสติกหูหิ้ว เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำกลับไปใช้ซ้ำได้ และจัดทำตู้ทิ้งขยะที่มีช่องแยกขยะแต่ละประเภทไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นช่องขยะเศษอาหาร ขยะกระดาษ ขยะพลาสติก เพื่อสะดวกในการนำขยะแต่ละประเภทไปกำจัดด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป”

นอกจากนั้น ยังจัดทำแคมเปญ “Let’s say no to plastic” เพื่อรณรงค์ให้ลูกค้าลดการใช้ส้อม มีด พลาสติก ซึ่งเมื่อทำแคมเปญออกไป ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้มาใช้บริการ ทานด้วยมือแทนช้อนส้อมพลาสติก ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของผู้พันแซนเดอร์ ซึ่งบอกว่าทานไก่ให้อร่อย ต้องทานด้วยมือ “It’s finger lickin’ good” ดังนั้น แคมเปญนี้สามารถลดการใช้พลาสติกได้เฉลี่ยถึง 40,000 ชิ้นต่อปี

ตั้งสถานีชาร์จร่วม กฟผ.

“ศสัย” กล่าวต่อว่า เราเริ่มทำตั้งแต่ปี 2564 นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง และเปิดให้บริการ แต่สิ่งที่เราเพิ่งทำเพิ่มเติมคือการให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ซึ่งเขามีนโยบายด้านการขับเคลื่อนการใช้รถ EV ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

สถานีนี้ประกอบด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็วที่เรียกว่า DC (direct current) แบบ fast charger ขนาด 125 kW 1 เครื่อง 2 หัวจ่าย รองรับการชาร์จได้พร้อมกัน 2 คัน ใช้ระยะเวลาชาร์จ 30 นาที

อย่างไรก็ตาม การเลือกโลเกชั่นในการติดตั้งสถานีชาร์จมีปัจจัยหลายด้าน โดยประการแรกต้องดูความพร้อมของสาขานั้น ๆ รวมถึงดีมานด์ของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย อย่างที่สาขาดีโป บาย วนชัย ถือเป็นสถานที่พักผ่อนระหว่างทางของนักเดินทาง จึงมีความเหมาะสมสำหรับการให้บริการสถานีชาร์จ

“ปีที่ผ่านมาเรามีการติดตั้งสถานีชาร์จแล้ว 2 แห่งคือ สาขาราชพฤกษ์ และสาขานวมินทร์ 70 กรุงเทพฯ ทั้งสองแห่งนี้จะเป็นหัวชาร์จแบบ AC (alternating current) ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในเมือง ซึ่งแรงชาร์จอาจไม่ได้สูงมาก ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการชาร์จ”

วางแผนขยาย Green Store

“ศสัย” กล่าวอีกว่า ต่อจากนี้เตรียมหาพื้นที่ขยายสาขา KFC green store เพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาทราฟฟิกในแต่ละพื้นที่ เพราะเรามองว่าการขยายร้านที่มีสถานีชาร์จให้บริการอยู่ด้วยในบริเวณนั้นจะต้องมีดีมานด์พอสมควร รวมถึงต้องมีความร่วมมือกับหลายภาคส่วน ฉะนั้น การเดินหน้าสู่ green store จึงเป็นไปตามนโยบายของบริษัทแม่เราอย่างไทยเบฟ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องนี้เข้มข้นอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนกลยุทธ์ Fast Good Strategy ของ KFC ที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยใส่ใจกับทุกภาคส่วน ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ชุมชน หรือสังคมโดยรวม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและสร้างรากฐานที่แข็งแรงสู่อนาคต

อันเป็นหลักการที่ยึดมั่นมาโดยตลอด “Done the right way” ซึ่งเป็นสิ่งผู้พันแซนเดอร์มุ่งมั่นตั้งแต่จุดเริ่มต้น และจนทุกวันนี้ที่ถ่ายทอดในทุกสิ่งที่เราทำครอบคลุมในสามส่วนคือ people-food-and planet

“ส่วนการขยายสาขา เราต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ผ่านหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้า ขนาดกลางในสถานีบริการน้ำมัน หรือขนาดเล็กในชุมชนคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อไป ดิฉันมองว่าเทรนด์ความยั่งยืนเป็น global trend มาแรงแห่งปี จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องสิ่งแวดล้อม

ส่งผลให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องตื่นตัว และปรับเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน เพื่อครองใจผู้บริโภคเช่นเดียวกับเรา ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรด้วยแนวคิดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรับผิดชอบต่อโลก และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทแม่ (ไทยเบฟ) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านความยั่งยืน เพื่อสรรค์สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติ”

ทั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเกื้อหนุนสังคม และการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจในไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2583

“จากภาพใหญ่เรื่องความยั่งยืน เราอยากให้แนวคิด green store ของเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม ในช่วงแรก ๆ ที่เราเริ่มทำเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าไปเลย เพราะเราไม่ให้ช้อนส้อม ไหนจะมีเรื่องการคัดแยกขยะอีก

ดังนั้น พนักงานของเราจะกลายเป็นแอมบาสซาเดอร์ ต้องคอยแนะนำลูกค้าว่าที่ร้านของเราเป็น green store เวลาเสิร์ฟอาหารจะไม่แจกช้อนส้อม และเมื่อทานเสร็จขอให้ลูกค้าทิ้งขยะตามถังที่วางไว้”

“ดังนั้น พนักงานบริษัทจะต้องมีความเข้าใจเรื่องรักษ์โลก เพราะถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญ เขาจะมองว่าเป็นภาระ ดิฉันคิดว่าถ้าเขามองเห็นความสำคัญเขาจะสามารถส่งต่อลูกค้าได้ แล้วร้านก็ต้องซัพพอร์ตให้ลูกค้าทำได้ง่าย ๆ ไม่ใช่ชวนลูกค้ารักษ์โลก ทิ้งขยะให้ถูก แต่ไม่อำนวยความสะดวกเรื่องถังแยกต่าง ๆ ลูกค้าก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด”