แนวร่วมลดเพื่อมนุษย์โลก Climate Care Forum 2023

ต้องบอกว่าภาพใหญ่ของโปรเจ็กต์ “Climate Care Platform” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อันประกอบด้วย โครงการ Care the Bear การลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์, โครงการ Care the Whale การลดก๊าซเรือนกระจกจากการบริหารจัดการขยะ และของเสีย และโครงการ Care the Wild การดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกป่า ล้วนเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนับจากริเริ่มโครงการเมื่อปี 2561 ซึ่งตอบโจทย์ให้กับองค์กรที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกให้กับโลกใบนี้

เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อร่วมโครงการมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเมื่อดูข้อมูลปัจจุบัน ปรากฏว่ามีองค์กรเข้าร่วมเป็นสมาชิกจาก 3 โครงการประมาณ 669 บริษัท คิดเป็นตัวเลขในการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ Care the Bear และ Care the Whale รวม 63,764.75 tonCO2e ส่วนโครงการ Care the Wild มีตัวเลขการดูดซับก๊าซเรือนกระจกรวม 702,000 kgCO2e

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ไม่นานที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO จึงจัดงาน Climate Care Forum 2023 : Time to Reduce “ลด-เพื่อ-โลก” เพื่อเชิดชูยกย่องสมาชิกของ Climate Care Platform ที่ดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

โดยมอบใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme-LESS) จาก TGO องค์กรแนวร่วมลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนในองค์กรมาช่วยกันร่วมลดการใช้พลังงานฟุ่มเฟือย หันมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวอย่างรู้คุณค่าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมภาคธุรกิจ ภาคสังคม ต่างตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน จึงดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม “Climate Care Platform” ตั้งแต่ปี 2561

โดยมีเป้าหมายร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเสริมแนวนโยบายของภาครัฐ อันสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UNSDG Goal) ในข้อ 13 Climate Action, ข้อ 12 Responsible and Production และข้อ 17 Partnership for the Goal

“ดังนั้น การจัดงาน Climate Care Forum 2023 : Time to Reduce ‘ลด-เพื่อ-โลก’ โดยร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ครั้งนี้ ไม่เพียงสะท้อนความร่วมมือระหว่างองค์กรทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรที่ฟุ่มเฟือย เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน

หากพันธมิตรในโครงการ Climate Care Platform ยังมุ่งมั่น และตั้งใจในการร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกด้วย ฉะนั้น ตลอดเวลาผ่านมาโครงการดังกล่าว จึงสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม จนนำไปสู่การขยายผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมบนแนวทาง Circular Economy อย่างต่อเนื่องต่อไป”

ขณะที่ “เกียรติชาย ไมตรีวงศ์” ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวเสริมว่า องค์กรของเราเป็นองค์กรภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้วิสัยทัศน์ที่เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน จึงดำเนินโครงการสร้างเครื่องมือ และกลไกต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการลดก๊าซเรือนกระจก ทั้งในด้านการบริโภค และการผลิต

ตลอดจนการดำเนินโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme-LESS) มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อยกย่อง และสร้างการยอมรับให้แก่องค์กรผู้มุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับโครงการ Climate Care Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความตระหนัก และจิตสำนึก

ปรับพฤติกรรมคนในองค์กรของสมาชิกให้ช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก ช่วยกันแก้ปัญหาภาวะโลกเดือดในขณะนี้ สอดคล้องกับโครงการ LESS ทั้งยังเชื่อมั่นว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำเครื่องมือ และกลไกลดก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ของ TGO ไปบูรณาการกับกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก

ภายในงานมีการนำเสนอข้อมูล 29 เรื่องราว ลด-เพื่อ-โลก ขององค์กรที่บริหารจัดการสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกจนเป็นรูปธรรมของสมาชิกทั้ง 3 care ของ Climate Care Platform เพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรอื่น ๆ นำไปปรับใช้เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน โดยหนึ่งเรื่องราวพลังของแนวร่วมคือ การสร้างป่าสมบูรณ์ให้ชุมชนบ้านชัฏหนองยาว จังหวัดสุพรรณบุรี

ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาว จ.สุพรรณบุรี
ป่าชุมชนบ้านชัฏหนองยาว จ.สุพรรณบุรี

แปลงปลูกป่านำร่องของโครงการ “Care the Wild” ปลูกป้อง Plant & Protect เริ่มต้นปลูกต้นไม้ กว่า 2,000 ต้น ในเดือนกันยายน ปี 2562 บนพื้นที่ 10 ไร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในภาคตลาดทุน ได้แก่ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ชมรมปฏิบัติการหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) และชมรมคัสโตเดียน

“นพเก้า สุจริตกุล” ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” Plant & Protect ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างผืนป่าต้นทางของความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจก นับจากเปิดโครงการเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรกว่า 81 องค์กร ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ 12 ป่าชุมชน รวมทั้งสิ้น 377.5 ไร่ ในพื้นที่ 9 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว

ผลเช่นนี้ เมื่อมาดูพันธมิตร และบรรดาสมาชิกบางรายที่เข้าร่วมโครงการ Care the Wild ตลอดปี 2566 ทั้งยังลงพื้นที่ไปปลูกป่าในหลาย ๆ จังหวัดทั่วภูมิภาคของไทย ต่างปรากฏชัดว่าองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้นต่างมีความรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการช่วยลดโลกร้อน

ซึ่งเหมือนกับ “ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในหลายบริษัทที่เข้าร่วมปลูกป่ากับโครงการ โดยลงพื้นที่บริเวณชุมชนบ้านโคกพลวง ตำบลหินโคน อ.จักราช จ.นครราชสีมา กล่าวแสดงความรู้สึกว่า

ผมอยากปลูกป่าอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดี เราเคยปลูกป่ามาหลายที่ แต่หลายครั้งเราย้อนกลับไปดูพบว่าพื้นที่เหล่านั้นกลับรกร้าง และหายไปบางส่วน เพราะขาดการดูแลจัดการที่ดี แต่สำหรับกิจกรรม Care the Wild เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะมีคนดูแลต่อ

“ตอนแรกผมนึกไม่ออกว่าป่าจะอุดมสมบูรณ์เติบโตได้อย่างไร และจะเกิดประโยชน์จริง ๆ อย่างไร แต่พอลงพื้นที่ก็เข้าใจทันที ผมจึงหวังว่าวันนี้จะเป็นจุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งที่จะไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พร้อมกับขอฝากพี่น้องชุมชนบ้านโคกพลวงดูแลผืนป่าแห่งนี้ด้วย”

ขณะที่ “ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย” กรรมการผู้จัดการบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เข้าร่วมปลูกป่ากับโครงการบริเวณชุมชนบ้านหนองปลิง ตำบลทุ่งกระบ่ำ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี กล่าวแสดงความรู้สึกว่า โครงการ Care the Wild เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ใช่โครงการปลูกป่าแล้วทิ้งไป แต่มีชุมชนเข้ามาช่วยดูแลด้วย การดำเนินลักษณะนี้จะทำให้โครงการยั่งยืน เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่อนข้างชัดเจนคือทุกต้นจะต้องรอด 100% หากบางต้นได้รับความเสียหายจะมีการปลูกซ่อม

“ดังนั้น การที่ DMT เข้ามาช่วยสนับสนุนการปลูกป่า ซึ่งเราตั้งเป้าหมายไว้ที่ 50 ไร่ ในระยะ 5 ปี โดยจะปลูกปีละ 10 ไร่ แม้เราจะไม่ใช่ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของประชากรโลก อะไรที่ช่วยได้ก็ควรทำ เพราะการช่วยกันคนละไม้คนละมือจะดีต่อคนทั้งโลก

ผมในนาม DMT ต้องขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์ฯและกรมป่าไม้ที่เป็นตัวกลางในการประสานจนเกิดความร่วมมือกับชุมชน DMT เป็นองค์กรที่อยู่ในเมือง เพราะถ้าเราคิดโครงการเอง ทำเอง ก็เหมือนมีมือเดียว สู้ร่วมมือกันดีกว่า เราสนับสนุนชุมชน และชุมชนช่วยเป็นหูเป็นตา สุดท้ายแล้วชุมชนเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย”

อันเป็นมูลเหตุจูงใจเดียวกันที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างมองเห็นความสำคัญของโครงการ “Climate Care Platform” ยิ่งเฉพาะกับโครงการ Care the Wild ที่อยากเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมาร่วมเป็นพันธมิตรในการปลูกป่าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในปีต่อ ๆ ไป

เพราะไม่เพียงจะช่วยลดสภาวะโลกเดือด หากยังทำให้มนุษย์บนโลกใบนี้อยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมาสู่ความสมบูรณ์ในอนาคตอีกด้วย

ภาคธุรกิจที่พร้อมเป็นต้นแบบเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สามารถติดตามข้อมูลการทำงานและร่วมเป็น นักลดได้ที่ https://climatecare.setsocialimpact.com/