เสน่ห์ผาดอกเสี้ยว เส้นทางธรรมชาติแบบ “นิเวศวัฒนธรรม”

ผาดอกเสี้ยว.
ผาดอกเสี้ยว.

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็กโก กรุ๊ป” จัดตั้ง “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” โดยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญต่าง ๆ ของประเทศ

ปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาพื้นที่ป่าสำคัญมาแล้วกว่า 8 เส้นทาง ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 3 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางยอดดอย, เส้นทางกิ่วแม่ปาน และเส้นทางอ่างกา ขณะที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย 1 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางน้ำตกมณฑาธาร และในจังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาหลวง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางน้ำตกพรหมโลก, น้ำตกกะโรม, น้ำตกอ้ายเขียว และเส้นทางน้ำตกกรุงชิง

สำหรับล่าสุดปรับปรุง “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว” ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พร้อมพัฒนาป้ายสื่อความหมายธรรมชาติในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ, ระบบสื่อความหมายออนไลน์ และวิดีโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา เพื่อส่งมอบแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์

“เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เปิดเผยว่า เอ็กโก กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืน ด้วยการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม และใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าองค์กรสาธารณกุศลเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 20 ปี

“ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้แข็งแรง ปลอดภัย กลมกลืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็น ‘ห้องเรียนธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของมูลนิธิ ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ทั้งนั้นเพื่อให้เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวมาสัมผัสคุณค่า และความสำคัญของป่าต้นน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนช่วยกันรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป”

เสน่ห์ธรรมชาติผาดอกเสี้ยว

สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว เป็นหนึ่งในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีระยะทางประมาณ 2.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 2-2.5 ชั่วโมง ด้วยลักษณะที่เป็นป่าดิบเขา และป่าต้นน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์หลากหลายไปด้วยพรรณไม้ ทั้งยังเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าสงวนอย่างชะนีมือขาว และมีน้ำตกผาดอกเสี้ยวเป็นจุดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ จนกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

กล่าวกันว่า เสน่ห์ของการเดินทางชมธรรมชาติของเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวคือการได้เรียนรู้ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตในการดูแลอนุรักษ์ป่า ของชาวปกาเกอะญอ ที่บ้านแม่กลางหลวง หมู่บ้านอ่างกาน้อย ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าการตั้งถิ่นฐานของบ้านแม่กลางหลวง

เริ่มต้นเมื่อปี 2413 โดย “นายตาโร” บรรพบุรุษที่อพยพมาจาก จ.แม่ฮ่องสอน จนมาถึงที่ตั้งถิ่นฐานในปัจจุบันในบริเวณดอยหัวเสือ เป็นผู้บุกเบิกสร้างชุมชนด้วยช้างตัวเมียหางด้วน ชื่อว่า “โมธุแหม่” เพียงตัวเดียว จึงตั้งชื่อว่า “แคว้นมึกะคี” หรือภาษาไทยแปลว่า “บ้านแม่กลางหลวง” หมายถึงดินแดนแห่งความสงบ สันติ และอุดมสมบูรณ์

ในอดีตเส้นทางนี้ใช้ประโยชน์เป็นแนวกันไฟ ขนผลผลิตทางการเกษตร และใช้เดินติดต่อไปมาหาสู่กันภายในชุมชน ต่อมาในปี 2562 เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ดำเนินการปรับปรุงเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แก่ประชาชน รวมถึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนด้วย

ชูนิเวศวัฒนธรรมเป็นจุดขาย

“เทพรัตน์” กล่าวต่อว่า มูลนิธิไทยรักษ์ป่าปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยยึดหลักการออกแบบที่มีผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุด การรับฟังความคิดเห็น และมีส่วนร่วมจากกลุ่มต่าง ๆ ตลอดจนนำภูมิปัญญาการก่อสร้างของชาวปกาเกอะญอมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ

เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้มีความโดดเด่นในฐานะแหล่งเรียนรู้ “นิเวศวัฒนธรรม” ที่ผสมผสานองค์ประกอบระหว่างธรรมชาติที่สวยงาม คุณค่าของระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์ของชุมชนชาวปกาเกอะญอบ้านแม่กลางหลวง

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ “คนอยู่กับป่า” อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาระบบสื่อความหมาย 14 จุดในเส้นทาง เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ คุณค่า และความสัมพันธ์ของสรรพชีวิตในผืนป่า ตลอดจนพัฒนาระบบสื่อความหมายออนไลน์ และวิดีโอเยี่ยมชมเสมือนจริง 360 องศา

เพื่อให้ผู้สนใจสามารถสัมผัสธรรมชาติในเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยวได้ทุกที่ ทุกเวลา ด้วยมุ่งหวังว่านักท่องเที่ยวและประชาชนจะตระหนัก และเห็นความสำคัญของการพึ่งพากันระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศ จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปกป้อง และร่วมดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน

นำความรู้ขับเคลื่อนงาน 6 ด้าน

“อรรถพล เจริญชันษา” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวเสริมว่า ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานฯกับเอ็กโก กรุ๊ป และมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่ร่วมกันพัฒนา และปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

โดยดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่ 4 ระหว่างปี 2564-2569 นั้น ถือว่ามูลนิธิไทยรักษ์ป่าเป็นตัวอย่างของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ภารกิจของกรมอุทยานฯจนสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

นอกจากการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติแล้ว มูลนิธิยังมีแผนที่จะนำความรู้ในทุกมิติการดำเนินงาน 6 ด้าน มายกระดับ และขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลผืนป่าต้นน้ำของบ้านแม่กลางหลวง ได้แก่ 1.การอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ 19,000 ไร่ 2.การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและปรับระบบเกษตร 500 ไร่

3.การพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาดอกเสี้ยว 4.การส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนกิจกรรมอนุรักษ์ 5.การวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยจัดทำฐานข้อมูลเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และ 6.การส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบคนอยู่ร่วมกับป่า เพื่อให้บ้านแม่กลางหลวงเป็นพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อย่างแท้จริง

นักท่องเที่ยว 300-400 คนต่อวัน

“เกรียงไกร ไชยพิเศษ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวด้วยว่า เมื่อก่อนเส้นทางนี้จะดูแลโดยชุมชนบ้านแม่กลางหลวง ทั้งยังมีการใช้ไม้สร้างเป็นทางเชื่อมเดินผ่านน้ำตก หรือบางจุดที่เดินลำบาก ซึ่งการปรับปรุงพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวล่าสุด ที่ทางมูลนิธิไทยรักษ์ป่าเข้ามีส่วนในการพัฒนาและปรับปรุงให้เส้นทางเดินทางง่ายขึ้น ทั้งยังมีการทำป้ายสื่อความหมายในจุดต่าง ๆ รวมถึงสร้างความมั่นคงของสะพานข้ามน้ำตกผาดอกเสี้ยวให้แข็งแรง

โดยเริ่มเปิดใช้เส้นทางที่ปรับปรุงใหม่มากว่า 8 เดือน ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการประมาณ 300-400 คนต่อวัน ยิ่งในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวแถบตะวันออกกลางเดินทางมาเยือนค่อนข้างมาก ส่วนนักท่องเที่ยวไทยมักจะนิยมไปเที่ยวที่ยอดดอย หรือกิ่วแม่ปานมากกว่า

ทั้งนี้เพื่อป้องกันด้านความปลอดภัย จำเป็นจะต้องมีผู้นำเที่ยวซึ่งคือชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่กลางหลวง ที่ผ่านการอบรมจากทางอุทยานแห่งชาติ ทั้งการปฐมพยาบาล การสื่อความหมายหรือให้ความรู้ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

จึงทำให้นักท่องเที่ยวแน่ใจได้ว่านอกจากจะได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ยังได้รับการบริการที่ปลอดภัยด้วย