ธนาคารโลกชี้ ไทยต้องกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้น มุ่งสู่เป้า Net Zero

การกำหนดราคาคาร์บอน
Photo by Loic VENANCE / AFP) (Photo by LOIC VENANCE / AFP)

ธนาคารโลก เปิดรายงานเส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ชี้ไทยต้องกำหนดราคาคาร์บอนให้มากขึ้น ร่วมกับหามาตรการอื่น ๆ เพื่อควบคุมระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย : เส้นทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย และบทบาทของการกำหนดราคาคาร์บอน พบว่าประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี พ.ศ. 2573 

ในรายงานระบุว่าการกำหนดราคาคาร์บอน ไม่ว่าจะผ่านภาษีคาร์บอน หรือระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสำคัญต่อการเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประเทศไทยอาจต้องกำหนดราคาคาร์บอนมากขึ้นเพื่อรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม หรือราคาคาร์บอนที่สูงมากเพื่อลดการปล่อยก๊าซ ตัวอย่างมาตรการเพิ่มเติมเช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้า หรือการฝึกอบรมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถเร่งการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ได้

อย่างไรก็ตามมลพิษทางอากาศก็เป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขของประเทศไทย การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการกำหนดราคาคาร์บอนจะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศในเมือง ส่งผลให้อัตราการเจ็บป่วยลดลง เพราะในปี พ.ศ. 2562 ความเสียหายต่อสุขภาพที่มาจากการสัมผัสมลพิษ PM 2.5 ทำให้ประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 6% ของจีดีพี

ทั้งนี้รายได้ที่เกิดจากการกำหนดราคาคาร์บอนสามารถนำไปใช้เป็นเงินทุนสนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ หรือเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายสาธารณะ ตัวอย่างเช่น ราคาคาร์บอนอาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้งบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2567 

ฟาบริซิโอกล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อลดการปล่อยก๊าซแล้ว และได้ดำเนินการขั้นแรกเพื่อใช้การกำหนดราคาคาร์บอนอย่างครอบคลุม การซื้อ-ขายของการปล่อยก๊าซภาคสมัครใจได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558

นโยบายเหล่านี้แม้จะช่วยจำกัดการเติบโตของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความทะเยอทะยานเชิงนโยบายเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในปัจจุบัน

ผู้กำหนดนโยบายที่พิจารณาการกำหนดราคาคาร์บอนจะต้องพิจารณาทางเลือกระหว่างภาษีคาร์บอนและระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Systems-ETS) เพราะการออกแบบนโยบายเหล่านี้มีความซับซ้อน

เนื่องจากต้องพิจารณาหลายประการ ทั้งความครอบคลุมของภาคส่วนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระดับราคา ความสัมพันธ์กับเครื่องมือบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ ความยาก-ง่ายในการบริหารจัดการ การใช้รายได้เพื่อจัดการกับประสิทธิภาพ และวัตถุประสงค์ในการกระจาย ข้อกังวลด้านความสามารถในการแข่งขัน และความเสี่ยงทางการเมือง เป็นต้น 

“การกำหนดราคาคาร์บอนสองรูปแบบหลักทั้งภาษีคาร์บอน และระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETSs) แต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ภาษีคาร์บอนนั้นดำเนินการได้ง่ายและไม่ต้องมีการพัฒนาเชิงสถาบันมากนัก อย่างไรก็ตามการกำหนดราคาคาร์บอนเป็นแนวคิดที่สมควรแก่เวลา แต่ทางเลือกใดจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย

เช่น ความครอบคลุมรายสาขาของนโยบาย และศักยภาพในการใช้รายได้ที่สร้างขึ้น การพิจารณาเลือกสาขาที่ครอบคลุมโดยการกำหนดราคาคาร์บอนเป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดราคาคาร์บอนมีประสิทธิภาพในสาขาที่มีทางเลือกด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และผู้ควบคุมและกำหนดกลไกตลาดตระหนักถึงต้นทุนที่กำหนดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตามราคาคาร์บอน

ทั้งนี้การก้าวไปสู่เส้นทางการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำจะสามารถช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในด้านการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน”