ประชุม COP28 คืออะไร ทำไมธุรกิจต้องลดคาร์บอน

COP28

ก่อนที่การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) จะเปิดฉากขึ้นอีกครั้งในวันที่ 30 พฤศจิกายน-12 ธันวาคม 2566 ที่ดูไบ ทุกภาคส่วนต่างเร่งเตรียมแผนขับเคลื่อนแผนนำประเทศก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในเวที Energy Symposium 2023 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อภิปรายผลกระทบจาก climate change ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมือในอนาคต ด้วยแรงกดดันจาก climate clock ทุกหน่วยงานต้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่

10 ปี มาตรการ 4 พันเรื่อง

นายพัทธ์กมล ทัตติพงศ์ ผู้อำนวยการส่วนยุโรป 2 สำนักยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 4,000 มาตรการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% จากมาตรการสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก การส่งเสริมการลดใช้พลังงาน หรือการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน

“เทรนด์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และต่อไปจะไม่ได้มีแค่มาตรการของภาครัฐเท่านั้น แต่เอกชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เริ่มกำหนดมาตรการเช่นกัน เช่น ไมโครซอฟท์ ที่เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนภายในองค์กร ตั้งแต่ปี 2555 ให้หน่วยธุรกิจของตนเองทั่วโลกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน (carbon fee) ตามปริมาณที่หน่วยธุรกิจนั้นปล่อย”

เนสท์เล่ กำหนดนโยบายว่า วัตถุดิบที่จัดซื้อจะต้องไม่มาจากพื้นที่ที่ถูกแปรสภาพจากป่าที่มีการกักเก็บคาร์บอนสูง หรือระบบนิเวศธรรมชาติ

โดยมีเป้าหมายสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2568

“ภาครัฐต้องสนับสนุนเรื่องนี้ และภาคธุรกิจต้องปรับตัว ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อย่างที่ผ่านมาประเทศไทยก็ใช้แนวคิดเรื่องของ BCG model มาประยุกต์

รู้จัก Climate Clock

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า ทุกวันนี้มี climate clock หมายถึง จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับมาได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใกล้จะหมดเวลาแล้วในปี 2573 ทำให้ต้องเร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (NDC Action Plan) ให้ทันก่อนการประชุม COP28

NDC Action Plan ต้องอาศัยการบริหารจัดการภายในประเทศควบคู่กับการขอแรงสนับสนุนจากต่างประเทศ ในด้านเงินสนับสนุนการลงทุนและด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความท้าทายใหม่ ทำให้ต้องมีเครื่องมือใหม่เข้ามาช่วย คือ ร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าจะสำเร็จในอต้นปี 2567

เปิดกม.เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สำหรับ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบด้วย 14 หมวด หมวดที่สำคัญสำหรับภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ได้แก่ หมวดข้อมูลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งแบ่งเป็นระดับประเทศและระดับนิติบุคคลสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างมาก เชื่อมโยงกับหมวดระบบซื้อขายสิทธิปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่จะอนุโลมสิทธิให้บางอุตสาหกรรมสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รายปีได้

แต่หากเกินที่กำหนดก็ต้องไปหาสิทธิเพิ่มหรือซื้อคาร์บอนเครดิตซึ่งกระบวนการเหมือนกับ EU Emission Trading Scheme (EU ETS) และมี carbon tax to products เพื่อจัดเก็บภาษีเพิ่มในบางสินค้า

วางเกณฑ์ Thailand Taxonomy

“เงินที่เก็บได้มาตรการดังกล่าว จะถูกนำมาหมุนเวียนเป็นกองทุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงได้ด้วย revenue recycling”

ทั้งยัง มีเรื่อง Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นแนวทางพิจารณาสนับสนุนการเงินสำหรับกลุ่มกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและยั่งยืน รวมถึง green bond พันธบัตรที่มุ่งเน้นระดมทุนสีเขียว

“ทุกสเต็ปทั้งหมด เกิดจากการหารือของภาครัฐและเอกชน เอกชนมีโจทย์และเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการให้รัฐช่วยขับเคลื่อนในด้านใด ในการประชุม COP28 ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะไปกล่าว national statement เพื่อเน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมเสนอเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศฉบับที่ 2 (NDC2) สำหรับปี 2035 ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายใหม่ที่ต้องลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่า 40%”

ตาราง ลดก๊าซเรือนกระจก

เตรียมทำ Carbon Tax

นางสาวรัชฏา วานิชกร ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มจัดทำมาตรการภาษีคาร์บอน อยู่ในร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกลไกคาร์บอนภาคบังคับที่จะจัดเก็บจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อลดหรือปรับเปลี่ยนการบริโภค

โดยมี 2 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับนิติบุคคล มีตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ และ 2) ระดับสินค้า ตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น

“กฎหมายสรรพสามิตในปัจจุบันของไทยสามารถเริ่มจัดเก็บได้ทันทีในระดับสินค้า แต่ระดับนิติบุคคลยังต้องอาศัย พ.ร.บ.อื่นเข้ามาช่วย โดยจะใช้หลักคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนว่า จะต้องไม่สร้างภาระ แต่จะเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค จึงจะเก็บระดับที่เหมาะสม ไม่ให้รู้สึกว่าเรากำลังทำโทษผู้บริโภคอยู่”

Premium T-VER

นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่า อบก.ได้ยกระดับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) เพิ่มเติม ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่า มาตรฐานนี้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล

ขณะเดียวกันยังได้จัดทำ carbon label ในระดับองค์กรและระดับสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทำเรื่อง net zero label ซึ่งมีร่างข้อกำหนดและแนวทางรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ของไทย โดยเฉพาะสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อนำไปใช้รับสิทธิประโยชน์ในการซื้อคาร์บอนเครดิตได้

166 บริษัทมุ่งพลังงานสะอาด

นายนที สิทธิประศาสน์ กรรมการและเลขานุการ สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัท 315 บริษัททั่วโลก หรือคิดเป็น 84% ตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานสะอาด 100% (RE100) ในปี 2573 ซึ่งมีถึง 166 บริษัทที่ทำธุรกิจในไทย

“หากเราจะรอดได้ ต้องมีปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระบบ 70-80% ในปี 2593 ซึ่งภาคเอกชนได้จัดทำแผน PDP ภาคประชาชนขึ้น มี big data เพื่อรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงาน

รวมถึงการแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต FTIX ที่เริ่มไปแล้ว และกำลังขยายไปเรื่องการซื้อขายใบรับรองมาตรฐานอย่าง I-REC และอยู่ระหว่างการเปิด sandbox การซื้อขายพลังงานหมุนเวียน”

นอกจากนี้ยังมีการตั้งสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย การตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อดำเนินงานตามแผน PDP ภาคประชาชน และลดค่าใช้จ่ายให้สมาชิก