บทบรรณาธิการ : ปิกอัพไม่ลด ฝุ่น PM เพิ่มขึ้น

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 กำลังจะกลับมาเป็นปัญหาทางด้านสุขอนามัยของคนไทยอีกแล้ว แต่ดูเหมือนว่า ปีนี้ฝุ่น PM 2.5 จะมาเร็วกว่าปกติทั้ง ๆ ที่ยังไม่สิ้นสุดฤดูฝนปี 2566

ล่าสุดจากระบบติดตาม PM 2.5 ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศของ Gistda เริ่มมีรายงานค่าฝุ่นพุ่งขึ้นสูงในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดชายแดนติดแม่น้ำโขง เช่น นครพนม, มุกดาหาร, ยโสธร, หนองคาย และอุบลราชธานี

หลายตำบลในจังหวัดกลุ่มนี้วัดค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีเหลือง หรือปานกลาง ในอีกหลายพื้นที่เข้าสู่ระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลต่อสุขภาพ จากทั้งหมด 5 ระดับ คือ สีฟ้า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่ดีมาก, สีเขียว ค่าฝุ่นดี, สีเหลือง ค่าฝุ่นอยู่ในระดับปานกลาง, สีส้ม ค่าฝุ่นเริ่มมีผลต่อสุขภาพ และสีแดง ค่าฝุ่นมีผลต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครก็เริ่มพบค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสีส้มด้วย โดยส่วนใหญ่ค่าฝุ่นแสดงสีส้มที่ตรวจวัดได้ของกรมควบคุมมลพิษ จะอยู่ริมถนนสายหลัก โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมาจะพุ่งขึ้นสูงในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ทั้งของรัฐและเอกชน และในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งเช้าและเย็น ประกอบกับวันใดที่ลมนิ่ง อากาศไม่ถ่ายเท หรือไม่มีฝนตกลงมา ค่าฝุ่น PM 2.5 ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่นมลพิษ PM 2.5 เริ่มเป็นที่ตระหนักรับรู้มาตั้งแต่ปี 2560 และได้ถูกยกระดับความสำคัญให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ในปี 2562 จนกระทั่งถึงปัจจุบันและรัฐบาลยังได้กำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษ โดยครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว

โดยมีการปรับปรุงเพิ่มเติมแผนมาตั้งแต่ปี 2562 และวางแผนปฏิบัติการเอาไว้ถึงปี 2567 ทว่าทุก ๆ ปีที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดูเหมือนจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ทั้งการเผาในที่โล่ง ฝุ่นควันลอยข้ามแดน และฝุ่นที่เกิดจากระบบขนส่งคมนาคมเอง

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปน้ำมันดีเซลนั้นเป็นต้นตอของฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่ยังแก้ไม่ได้ จากสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิกอัพ

ทว่านโยบายรัฐบาลเองกลับยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่บรรจุไว้ในแผนภายใต้รัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่รัฐบาลชุดนี้กลับมีความพยายามที่จะให้การส่งเสริมการผลิตรถยนต์สันดาปควบคู่ไปกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV จนกลายเป็นความลักลั่นทางด้านนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างแน่นอน