ประหยัดพลังงานเพื่ออนาคต BEC อาคารอนุรักษ์พลังงาน

ในปัจจุบันทุกประเทศรวมถึงไทยต่างให้ความสำคัญและมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคพลังงานเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด โดยในปี 2562 ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น 372,648.77 ktCO2eq ซึ่งเป็นการปลดปล่อยในภาคพลังงานถึง 257,340.89 ktCO2eq หรือคิดเป็นร้อยละ 69.1 ตามรายงานแห่งชาติฉบับที่ 4, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

ล่าสุด ประเทศไทยได้จัดทำแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงาน ผ่านการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่าร้อยละ 30 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดประชาพิจารณ์แผนฉบับใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

รู้จัก BEC อาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

แต่อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) คือมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Building Energy Code) หรือ BEC ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

โดยบังคับใช้สำหรับอาคารใหม่ หรืออาคารดัดแปลงที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมมากกว่า 2,000 ตารางเมตร ภายใต้ 9 ประเภทอาคาร ได้แก่ (1) สถานศึกษา (2) สำนักงาน (3) อาคารโรงมหรสพ (4) อาคารห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า (5) อาคารสถานบริการ (6) อาคารชุมนุมคน (7) อาคารโรงแรม (8) สถานพยาบาล

และ (9) อาคารชุด มาตรการนี้เป็นหนึ่งในมาตรการตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนย่อยภายใต้แผนพลังงานชาติ มีศักยภาพในการลดการใช้พลังงานประมาณ 18,477 ล้านหน่วยไฟฟ้า หรือประมาณ 9,000 ktCO2eq ภายในปี 2580

และเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร โดยกำหนดให้การออกแบบต้องเป็นไปตามมาตรฐานซึ่งครอบคลุมในด้านการส่งผ่านความร้อนผ่านกรอบอาคารและหลังคา การใช้แสงสว่างในอาคาร (LPD) ประสิทธิภาพของระบบปรับอากาศภายในอาคาร (COP หรือเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง) และประสิทธิภาพของระบบผลิตน้ำร้อน โดยคำนึงถึงการใช้พลังงานทดแทนประกอบการประเมินเกณฑ์ดังกล่าวด้วย

5 ความสำเร็จ ปี 2566

ในปี 2566 ประเทศไทยมีผลการดำเนินงานที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยสามารถสรุปผลในภาพรวม ดังนี้

1. การบังคับใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (BEC) โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขอใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร (อ.1) และการขออนุญาตเปิดใช้งานอาคาร (อ.5) ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 มีผลให้การก่อสร้างอาคารในประเทศไทย ต้องคำนึงถึงประเด็นด้านประสิทธิภาพด้านพลังงานของอาคารด้วย

2. การให้คำปรึกษาและสนับสนุนการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พพ.ได้ตรวจประเมินแบบอาคารกว่า 937 แห่ง โดยก่อให้เกิดผลประหยัดกว่า 1,710 ล้านหน่วยต่อปี หรือเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี

3. การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ตรวจประเมินแบบอาคาร สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบอาคาร สถานศึกษา กลุ่มผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และอื่น ๆ กว่า 750 คน ทั้งยังมีการอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายกว่า 3,500 คน เป็นต้น

4. การจัดการประกวดแบบอาคาร BEC Awards โดยที่ผ่านมาได้มีอาคารที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้นกว่า 183 อาคาร

5. การก่อสร้างอาคารต้นแบบการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Energy Building) ชื่ออาคาร 70 ปี พพ. ในพื้นที่ของกรม ขนาดอาคาร 2,650 ตารางเมตร โดยได้มีการใช้วัสดุและเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ เช่น วัสดุที่กันความร้อนได้ดี การใช้ระบบ Energy Recovery Ventilator (ERV) เป็นต้น อาคารนี้เปิดใช้งานตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 มีผู้ขอเข้าเยี่ยมชมอาคารกว่า 300 คนในปัจจุบัน

อนาคต Zero Energy Building

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 และในอนาคตต่อไปนั้น พพ. จะต่อยอดจากความสำเร็จในการดำเนินการที่ผ่านมา ทั้งการให้คำปรึกษาและสนับสนุนการตรวจประเมินแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอาคารภาครัฐ เพื่อมีการใช้พลังงานเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ลดภาระงบประมาณด้านพลังงานของประเทศ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการอนุรักษ์พลังงาน

พร้อมกันนี้จะมุ่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น การร่วมมือกับ United Nations Environment Programme (UNEP) ศึกษาแนวทางการสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานอาคารใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล (ISO-23764) พร้อมนำร่องแนวคิดการตั้งค่าเปิดใช้งานอาคารใหม่ และการส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเป็นแบบอย่างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ต่อไป