มาตรการ Net Zero ของไทย มากกว่าความจำเป็น แต่คือ “โอกาส”

“ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ภาวะโลกเดือด” จากคำกล่าวของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้แสดงให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนกำลังใกล้ถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้อีก การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญแห่งศตวรรษที่ประชาคมโลกต้องมีส่วนร่วม

ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และมรสุมที่เป็นผลพวงจากโลกร้อน ตลอดจนความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกภาคส่วน

ไทยเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก

ประเทศไทยจึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งการปรับปรุงเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ให้ตอบสนองต่อความท้าทายที่เพิ่มขึ้น การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

รวมถึงการผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการทั้งหลายเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ที่การประชุม COP26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“ประเทศไทยยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608”

เปิดแผน LT-LEDS

“ณัฐกิตติ์ กริตโยธิน” ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ผู้จัดทำผลการศึกษาโครงการการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มุมมองว่ายุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย หรือ แผน LT-LEDS นับเป็นสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานของทุกหน่วยงานให้ไปในทิศทางเดียวกัน

แผน LT-LEDS ครอบคลุมการดำเนินการใน 5 ภาคส่วน ประกอบด้วย ภาคพลังงานและขนส่ง ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคการจัดการของเสีย ภาคการเกษตร และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

แต่จากการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่าการดำเนินการตามแผน LT-LEDS ฉบับแรกยัง
ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุ COP26 ได้ เนื่องจากถึงแม้ว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (กรณีที่ไม่ดำเนินการอะไรเลย) ในปี พ.ศ. 2593 จาก 730.3 ตันคาร์บอนหรือเทียบเท่า (MtCO2eq) เหลือ 446.2 MtCO2eq แต่ยังคงห่างไกลจากเป้าหมายปี พ.ศ. 2608

จึงจำเป็นต้องจัดทำ “แผน LT-LEDS ฉบับปรับปรุง” ขึ้นมา โดยยังคงเดินหน้าใน 5 ภาคส่วนเดิมไว้ และเพิ่มกระบวนการดำเนินงานเข้มข้นมากขึ้น ทั้งด้านนโยบาย เทคโนโลยี การเงินและการลงทุน กลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การเพิ่มแหล่งกักเก็บ/ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และด้านกฎหมาย การยกระดับความก้าวหน้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

หนุนลงทุนพุ่ง 0.9 ล้านล้านบาท

ผลศึกษาพบว่าแผน LT-LEDS ฉบับปรับปรุงจะสามารถขับเคลื่อนประเทศ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

และเห็นชัดว่าแม้ในช่วงแรกของการดำเนินนโยบายอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศจะได้รับผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงหลัง พ.ศ. 2593 เป็นต้นไป อัตราการเติบโตของ GDP จะมีแนวโน้มเป็นบวกมากยิ่งขึ้น สุดท้ายจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงในระยะยาว ควบคู่ไปกับการรักษาความยั่งยืนของสภาพแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

“ที่สำคัญจากผลการศึกษาพบว่า การดำเนินตามมาตรการ LT-LEDS ฉบับปรับปรุง จะทำให้การลงทุนในภาคเอกชนและภาครัฐเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 3.5 และ 2.9 ตามลำดับ โดยการลงทุนในภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นถึง 0.8 ล้านล้านบาท และการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นราว 0.1 ล้านล้านบาท รวม 0.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะเกิดจากกิจกรรมในภาคพลังงานทดแทน เช่น ภาคการผลิตไฟฟ้า (จากพลังงานทดแทน) หรือกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ”

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าแผน LT-LEDS ยังทำให้เกิดผลประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยคาดการณ์ว่าการลงทุนประเภทดังกล่าว 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 4 เท่าของเงินที่ลงทุนไป

ตัวอย่างธุรกิจที่จะมีการลงทุนในอนาคต

ตัวอย่างการลงทุนที่สำคัญที่อาจเห็นได้ในช่วง 10-20 ปีถัดไป มีดังนี้

– การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบต่าง ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น กำแพงกั้นน้ำ ระบบผลิตและกักเก็บน้ำจืด และการวางผังเมืองที่ทนต่อความร้อน

– การลงทุนในพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกทั้งที่เป็นพลังงานที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น ลม น้ำ แสงอาทิตย์ รวมไปถึงพลังงานอนาคตที่มีศักยภาพ เช่น ความร้อนใต้พิภพ พลังงานนิวเคลียร์ ตลอจนเชื้อเพลิงไฮโดรเจน

– การลงทุนในกริดและระบบกักเก็บพลังงาน เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรม แบตเตอรี่ และอุปกรณ์พลังงานต่าง ๆ

– การลงทุนในเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน (CCUS) เพื่อดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากภาคส่วนต่าง ๆ และป้องกันไม่ให้ปะปนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเฉพาะที่เกิดจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม

– การลงทุนในเทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรและปศุสัตว์ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ การใช้สารอินทรีย์ที่ยับยั้งการปล่อยก๊าซมีเทนในปศุสัตว์ การผลิตก๊าซชีวภาพ และเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพ

ในอนาคตมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจึงไม่ใช่เพียงแค่ความจำเป็น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญด้านการลงทุนภายใต้ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยจึงไม่เพียงแต่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่ของโลกที่เปลี่ยนไป แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุก สร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการลงทุนในกิจกรรมที่ลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน