เชฟรอนดัน “เอามื้อสามัคคี” ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั่วไทย

หนึ่งโครงการของเชฟรอนที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง คือ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ซึ่งเดินทางมาถึงปีที่ 6 แล้ว โดยชักชวนให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายร่วมกันสร้างหลุมขนมครกในรูปแบบโคกหนองนา เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง เก็บกักน้ำสร้างความชุ่มชื้นในฤดูฝน และส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์

โดยปีนี้เป็นปีสุดท้ายของระยะที่ 2 ตามแผนหลัก 9 ปีของโครงการที่เน้นการแตกตัว หรือการขยายผลในระดับทวีคูณเพื่อสร้างคน สร้างครู และสร้างเครื่องมือ พร้อมยกระดับศูนย์เรียนรู้สู่การศึกษาตลอดชีวิต ซึ่งอาศัยความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน

หลังจากนั้น จะเข้าสู่แผนงานระยะที่ 3 เป็นการขยายผลเชื่อมกันทั้งระบบ โดยจะดำเนินงานในระดับของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย วางรากฐานในการพัฒนามนุษย์ พร้อมกับฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำเชื่อมโยง 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ


สำหรับพื้นที่ธงนำของโครงการในปีนี้ ได้ปักหมุดที่ จ.จันทบุรี ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ “อินทรีย์ผงาด” ด้วยเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ 10,000 ไร่ในปีแรก และจะเพิ่มเป็น 10 เท่าในปีถัดไปทุกปี

ทั้งนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้เชฟรอนได้ร่วมกับ มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์ และฟาร์มม้าไทยเมืองจันท์ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เพื่อให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และถ่ายทอดตัวอย่างความสำเร็จของคนต้นแบบให้กับผู้ปลูกและผู้บริโภค

คนต้นแบบที่ว่า คือ “แววศิริ ฤทธิโยธี” เจ้าของบ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์ และฟาร์มม้าไทยเมืองจันท์ ซึ่งเธอเล่าว่า พื้นที่แห่งนี้มีสวนยางประมาณ 120 ไร่ และสวนผลไม้ 80 ไร่ ปลูกเงาะ มังคุด ทุเรียน ลองกอง และอื่น ๆ ผสมผสานกัน โดยก่อนหน้านี้มีการทำสวนมะละกอซึ่งใช้สารเคมีมาก ด้วยความกังวลเรื่องสุขภาพของตัวเองและคนงาน จึงค่อย ๆ ปรับมาทำเกษตรอินทรีย์ และดำเนินการมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว ทั้งยังมีการขุดบ่อ 7 บ่อ รวมทั้งบ่อบาดาล จึงทำให้สวนมีน้ำใช้ตลอด

“เมื่อปีที่ผ่านมาได้ไปอบรมเรื่องเกษตรอินทรีย์เพิ่มเติมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด กลับมาจึงลองหมักปุ๋ยเองจากความรู้ที่ไปอบรมมา โดยเราเป็นหนึ่งในเกษตรกร 30 กว่ารายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS (Participatory Guarantee System) หรือการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูงานสม่ำเสมอ”


สำหรับกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่จัดขึ้นที่บ้านสวนอิสรีย์ฯ มีทั้งการขุดคลองไส้ไก่, การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, การบำรุงดินด้วยวิธีห่มดินปุ๋ยแห้งชามปุ๋ยน้ำชาม, การปลูกหญ้าแฝก และมีกิจกรรมตลาดนัดความรู้ ได้แก่ ฐานฅนรักษ์แม่ธรณี, สาธิตและลงมือทำสมุนไพร 7 รส, การทำปุ๋ยแห้งชีวภาพ, สาธิตและลงมือเผาถ่านจากผลไม้

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ร่วมปลุกปั้นโครงการนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นกล่าวว่า กิจกรรมเอามื้อสามัคคีถือว่าสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ในปี 2564 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยสนับสนุนเกษตรกรให้พัฒนาตนเอง ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากเดิมไปสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรธรรมชาติ, เกษตรผสมผสาน, เกษตรอินทรีย์, วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรกรรมยั่งยืนรูปแบบอื่น ๆ

“ปัจจุบันทั้งประเทศมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่ถึง 1 ล้านไร่ ซึ่ง จ.จันทบุรีจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการแตกตัวทั่วไทย เพราะเกษตรกรของที่นี่กว่า 99.99% ยังคงใช้สารเคมีเป็นหลัก โครงการนี้จะช่วยปรับแนวคิดและรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบเดิมมาเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย”

“เกษตรกรต้องพึ่งตัวเองให้ได้ อันสอดคล้องกับหลักความพอเพียง เพื่อนำไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมแตกตัวทั่วไทยเกิดขึ้นจากความร่วมมือของคนไทย ภาครัฐต้องหนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วนดำเนินการกิจกรรมเช่นนี้ เพื่อสร้างเกษตรกรที่เข้มแข็งและหลุดพ้นจากความยากจนให้ได้”

ในส่วนของแกนนำภาคเอกชน “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สะท้อนภาพรวมโครงการว่าสามารถแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร รวมถึงการสร้างคนและองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน

“ช่วงแรกของการทำงานเราคุยกับภาคส่วนที่มาร่วมกันทำงานว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร แม้ในระยะเริ่มต้นอาจเจอปัญหาคอขวดที่คนไม่ค่อยรับรู้โครงการนี้ แต่เมื่อเราเริ่มเปิดศูนย์เรียนรู้ มีวิทยากรที่ชัดเจน และ สจล.ที่ทำวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ก็ทำให้การทำงานคล่องตัวและราบรื่นกว่าเดิม เพราะคนเกิดการรับรู้ในวงกว้าง ทำให้เกษตรแบบพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป”

“เรากำลังมองว่าเมื่อคนขยับมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ทำให้มีซัพพลายเยอะ ต่อไปอาจเจอปัญหาราคาตกได้ ดังนั้น แผนงานของเชฟรอนหลังจากนี้คือการเข้าไปผลักดันว่าจะขายพืชผลอย่างไรให้ได้ราคา เพราะเราต้องการที่จะทำให้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก แต่เป็นหนทางหลักของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน”