“SE” ปลายทางที่ยังริบหรี่

ธุรกิจ SMEs
แฟ้มภาพ

คอลัมน์ Inside out story

โดย วิทวัช เนตรแสนสัก

 

ในช่วงระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับสตาร์ตอัพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่จะเป็นแนวรบใหม่ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั่วถึง ทั้งยังขยายไปกลุ่มเกษตรกร ผู้ด้อยโอกาส และคนยากจน

โดยรัฐบาลมีแนวทางในการช่วยเหลือที่หลากหลาย ทั้งมาตรการทางด้านภาษี มาตรการทางด้านการส่งเสริม มีกองทุนในการสนับสนุน รวมถึงมีหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน ทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

แต่กระนั้น ผลที่ออกมากลับสวนทางกัน ทั้งความล่าช้าในการดำเนินงาน หรือว่ามาตรการเหล่านั้นตรงต่อความต้องการของกลุ่มสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการใหม่มากน้อยเพียงใด จนทำให้ล่าสุดต้องมีการทบทวนแนวทาง หรือมาตรการต่าง ๆ ในการสนับสนุน เพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

ทั้งนั้น หากย้อนกลับมาดูกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการทางด้านสังคม โดยเฉพาะ “กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise-SE)” หรือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” กลับดูเหมือนว่าผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร

แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆ ของประเทศพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างความเป็นธรรม ขยายผลไปยังชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศ

ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายกิจการเพื่อสังคมต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม ในการช่วยเหลือชุมชน ดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการออกกฎหมายยกเว้นภาษีให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม กิจการเพื่อสังคม แต่ส่วนนี้ดูเหมือนว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนที่เข้ามาลงทุนในกิจการเพื่อสังคม มากกว่าการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการที่เป็น SE

ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้ประกาศแผนแม่บทการสร้างกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553-2557 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (คกส.) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสริมสร้างกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2554 ทั้งยังมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการสร้างกิจการเพื่อสังคมภายในประเทศ

ล่าสุดรัฐบาลได้มอบหมายให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ทั้งยังมีการออกเกณฑ์และประกาศรับคำขอหนังสือรับรองกิจการเพื่อสังคมไปแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีการจัดทำร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยตอนนี้ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 แล้ว หลังจากครั้งแรกที่ได้เสนอ ครม.ไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 แต่ถูกสั่งให้นำกลับมาทบทวน แก้ไขบางประเด็น โดยเฉพาะการตั้งกองทุน และได้มีการเสนอกลับไปให้ ครม.พิจารณา ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

จนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ผ่านมา ในงาน Kick off Social Enterprise : SE ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้อัพเดตบอกว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าพิจารณาของ ครม. ซึ่งคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้ ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติฯพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบาย มีมาตรการในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม วิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ดูเหมือนว่าจะยังไปไม่ถึงผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมจริง ๆ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ว่ามีกฎหมาย มีกองทุนแล้วจะทำให้ SE เกิดขึ้น อย่างที่เคยคุยกับผู้ประกอบการ SE เพราะทุกคนต่างมองว่าการส่งเสริมเรื่ององค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ การมีสภาพแวดล้อม และระบบที่เอื้อต่อ SE ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ

เพราะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่างมีความคิดสร้างสรรค์ มีใจที่จะช่วยเหลือ ดูแล และพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม แต่เรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านการเงิน การบริการซัพพลายเชน การตลาดนั้นอาจจะมีไม่มาก รวมถึงการมีระบบต่าง ๆ ที่สามารถทำให้ SE เข้าถึงองค์ความรู้ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้สามารถแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

ฉะนั้น การส่งเสริมเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อม และระบบให้กับ SE ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ไม่แพ้เรื่องกองทุน มาตรการทางด้านภาษี หรือเงินทุนในการสนับสนุนส่งเสริม SE และที่สำคัญ นิยามของกิจการเพื่อสังคม หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่รัฐบาลมุ่งจะให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องมีความชัดเจนเช่นกัน และต้องสอดคล้องกับความเป็นสากล นานาชาติ ไม่ใช่เหมารวม นับรวมกิจการที่ใช้ประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมหรือสนับสนุนของรัฐบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง SE

ดังนั้น การที่จะทำให้กิจการเพื่อสังคม และวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงแต่การมีกฎหมาย หรือมาตรการทางด้านภาษีเท่านั้น แต่การสร้างระบบ การมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ SE และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ทำให้กิจการนั้นสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ รวมถึงความจริงใจของรัฐบาลที่จะผลักดัน และทำให้เรื่องนี้มีความรวดเร็ว ครอบคลุม จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามที่ตั้งใจไว้อย่างแท้จริง