ธุรกิจชูธง “พัฒนายั่งยืน” สร้างสมดุลเศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม

จากงานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปี ประจำปี 2561 โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในหัวข้อ “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 ผ่านมา

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งยังเป็นนายกสมาคมเครือข่าย Global Compact ประเทศไทย และ “ดร.กฤษฎา เสกตระกูล” รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน และหัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาร่วมเปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

เริ่มต้นจากสำนึกคนในองค์กร

“ศุภชัย” กล่าวว่า นิยามความยั่งยืนของเครือ ซี.พี.ที่ประกาศต่อสาธารณะ และพนักงานกว่า 300,000 คน คือ “ตระหนักรู้ และจิตสำนึก” ในการทำธุรกิจอย่างไรให้เกิดผลกระทบในทางบวก ทั้งกับสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ พร้อมกำหนดเป้าหมายเพื่อไปสู่ตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับ Global Compact 17 ข้อ เช่น เรื่องธรรมาภิบาล

การปลูกฝังการศึกษา ธุรกิจเครือ ซี.พี.ส่วนใหญ่คือการผลิตอาหารให้คน ฉะนั้นจึงต้องมองไปที่การทำอาหารให้คนกินมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีอายุยืน รวมไปถึงการลดความอดอยาก เป็นต้น

และมองไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด รวมถึงคู่ค้าในซัพพลายเชน ทั้งต้องตั้งคำถามด้วยว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนมาร่วมแบ่งปันเป้าหมาย มีตัวชี้วัดแบบเดียวกัน และก่อนที่จะไปถึงตัวชี้วัดก็ต้องมองว่าระหว่างทางนั้นต้องปรับปรุงอะไรเพิ่มเติมบ้าง เพราะในที่สุดทั้งหมดจะกลับมาที่ “คน” ที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้เป็นเนื้อเดียวกันกับธุรกิจ

Advertisment

“ศุภชัย” บอกว่า หากคุณค่าความสำนึกของคนในองค์กรไม่มี องค์กรก็ไม่ยั่งยืนแน่นอน ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้องทำให้ทุกคนมีความพร้อม เพราะหากคนไม่พร้อม ก็จะสะท้อนมาที่องค์กรว่า ไม่มีความพร้อมในการดูแลทั้ง 3 มิติ คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ อย่างที่ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล กล่าวถึงคำว่า Care & Share คือ ความรัก เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เหล่านี้คือความมั่นคงของชีวิตและความฝัน ไม่ว่าจะเป็นระดับมหภาคหรือระดับองค์กร สิ่งสำคัญคือทุกคนควรอยู่บนพื้นฐานของความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และตระหนักว่า “เราคือส่วนหนึ่งของทั้งหมด ไม่ใช่ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของเรา”

“ถ้าประเทศดี โลกดี แล้วบริษัทเราจะไม่ดีได้อย่างไร แต่ถ้าดีคนเดียวที่เหลือแย่หมด เราก็ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง การทำธุรกิจต้องคำนึงถึงการกระทำของเราไม่ว่าจะบวกหรือลบจะกลับมาที่ตัวเราและคนที่เรารัก”

Advertisment

บาลานซ์กำไรกับความยั่งยืน

“ศุภชัย” กล่าวว่า การผลิตสินค้า การให้บริการ นอกจากองค์กรจะคำนึงถึงความต้องการของตลาด ก็ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนในระยะยาว ผลดีต่อคุณภาพชีวิต รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสังคม เศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หากบริษัททำได้ก็จะทำให้เกิดความยั่งยืนในภาพรวมของการทำงาน และทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาจะทำให้การแก้ไขปัญหานั้นเป็นเรื่องง่ายในทันที สะท้อนว่า วัฒนธรรมขององค์กรที่มีการจัดการที่ดี ถึงแม้จะเจอปัญหาหรือมีเงื่อนไขต่าง ๆ เข้ามาก็ตามถ้าองค์กรทำในสิ่งที่คำนึงถึงความยั่งยืน ผู้บริหาร หรือพนักงานจะรู้สึกรักองค์กรมากขึ้น อยากมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น มากกว่าช่วยองค์กรให้มีผลกำไรอย่างเดียว และถ้าทำให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ จะทำให้ธุรกิจเกิดความเข้มแข็งได้

“ผมไม่ได้เห็นด้วยอย่างมาก กับการที่ต้องทำผลประกอบการของบริษัทให้ดีขึ้นทุกปี หรือทุกไตรมาส โดยไม่คำนึงถึงระยะกลางและระยะยาว การบริหารงานแบบนั้น แม้กระทั่งในทุนนิยมปัจจุบันก็ไม่ได้เกิดความยั่งยืน และไม่ใช่วิธีการที่ดี การเดินหน้าที่ดี คือ สั้น-กลาง-ยาว ต้องทำไปพร้อมกัน และต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นด้วย”

“ศุภชัย” กล่าวว่า การทำธุรกิจปัจจุบันไม่ว่าบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก มีโอกาสไม่รอดทั้งนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง โอกาสที่ธุรกิจจะล้มเพียงข้ามคืนก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นเมื่อองค์กรประสบความสำเร็จก็จะต้องมองเรื่องของ “ความเสี่ยง” และเมื่อเวลาที่ล้มเหลวก็ต้องมองหา “โอกาส” อยู่ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นธุรกิจเราจะพังต่อหน้าแบบไม่รู้ตัว มิติเรื่องความยั่งยืนทำให้เราสร้างสมดุล พยายามมองความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่เราทำมีผลกระทบต่อเนื่องอย่างไร และผลกระทบสิ่งที่เราทำไม่ได้กระทบในวันนี้ พรุ่งนี้ แต่เป็นการส่งผลกระทบจากรุ่นสู่รุ่น

ตลาดทุนร่วมสร้าง ศก.ยั่งยืน

ขณะที่ “ดร.กฤษฎา” กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีอยู่ทั้งสิ้น 688 บริษัท ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาที่ยั่งยืน แม้ว่ากลไกของตลาดหลักทรัพย์ฯด้านหนึ่งเป็นการระดมทุนจากคนที่มีเงินเหลือ อีกด้านคือภาคธุรกิจเอกชนที่ต้องการระดมทุน ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน และผลักดันระบบเศรษฐกิจไทย

“เศรษฐกิจจะเติบโตได้ ตลาดทุนมีส่วนสำคัญมาก แต่ถ้าเราบริหารโดยทำให้สิ่งแวดล้อม และสังคมเสื่อมโทรมลงความยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้น หากมองย้อนกลับไปในยุคทองของตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงปี 2528 เป็นยุคที่ไทยพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตผ่านอีสเทิร์นซีบอร์ดซีซั่นแรก ซึ่งอานิสงส์ตกมาสู่ตลาดหุ้นไทยในยุคที่ 2 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก แต่สิ่งที่ไทยแลกมาจนถึงวันนี้ไม่ว่าจะเป็นแหลมฉบัง, มาบตาพุด หรือการขยายตัวของนากุ้งจำนวนมาก ล้วนส่งผลกระทบต่อการทำลายป่าชายเลน และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก”

หากบริษัทให้ความสำคัญเรื่องผลการดำเนินงานสูงเกินไป ขณะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม สังคมลำบาก ก็อาจทำให้มูลค่าธุรกิจมีความเสี่ยงและไม่ยั่งยืน

ปั้นองค์กรต้นแบบ

“ดร.กฤษฎา” กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมาตรฐานขั้นพื้นฐาน คือการให้บริษัทจดทะเบียนรายงานเรื่อง Environmental Social and Governance (ESG) ในรายงานผลประกอบการประจำปีด้วย ซึ่งปัจจุบัน 688 บริษัทจดทะเบียนมีการรายงานเรื่องนี้ถึง 98% ซึ่งการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยทำเรื่อง ESG ก็จะครอบคลุมเป้าหมายเรื่อง SDGsด้วย

“การรายงานผลประกอบการประจำปี ที่มีเรื่อง ESG, SDGs ถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เป็นมาตรวัดในการคัดเลือกบริษัทที่ดีในการลงทุน เพราะบริษัทที่ทำเรื่องนี้จะทำให้ความเสี่ยงระยะยาวลดลง เป็นการให้ความสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างความอยู่รอดของบริษัท และความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่บริษัททำดีแล้วอยู่ไม่รอด”

สำหรับธุรกิจที่ทำเรื่อง ESG จะส่งผลให้มีกำไรในระยะยาว และส่งผลต่อทิศทางราคาหุ้นได้ ฉะนั้นการรู้จักบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) อื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน เรื่องนี้เป็นกระแสของทั้งโลกที่คิดเรื่องความยั่งยืนต่อประเด็นที่ว่าทำอย่างไรไม่ให้เรื่องSDGs เป็นเรื่องที่อยู่แค่ในหนังสือรายงานประจำปี ดร.กฤษฎากล่าวว่าทุกวงการมีทั้งแนวหน้าและแนวหลังโลกกำลังเปลี่ยนไป การดำเนินธุรกิจยุคใหม่ทั่วโลกเน้นเรื่องความยั่งยืน คนที่ทำความดีและมีฝีมือ

ก็จะทำให้กลายเป็น หุ้นยั่งยืน และบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำเรื่องนี้ ก็จะได้รับการยกย่องผ่านมาตรฐานดัชนีชี้วัดบางประเภท เช่นที่ ตลท.มีการทำดัชนี THSI (Thailand Sustainability Investment) เพื่อเป็นตัวอย่างของบริษัทที่เป็นต้นแบบการทำดีและประสบความสำเร็จให้คนอื่นเห็น

“เราเอาคนที่เป็นผู้นำ มาเป็นต้นแบบและ มาให้ความรู้บริษัทขนาดกลาง ที่ต้องการเห็นว่าทำอย่างไรบ้าง เช่น ทรู เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งคิดว่าจะช่วยเราแชร์ได้ และการจะปฏิรูปประเทศให้ไปในทางที่ดีขึ้น การให้ความรู้เรื่องการดูแล และแบ่งปัน (care and share) ควรจะถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้น”