“ทิสโก้” สนับสนุนงานวิจัย พัฒนานวัตกรรมรักษาโรคมะเร็ง

ทิสโก้สนับสนุนงานวิจัย

เนื่องจากเป็นสถาบันการเงินที่มองเห็นปัญหาสังคมรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย จึงทำให้ “กลุ่มทิสโก้” จัดแคมเปญเกี่ยวกับโรคมะเร็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงของโรค

พร้อมเดินหน้าสนับสนุนกองทุนเพื่องานวิจัยทางการแพทย์ โดยมีเป้าหมายคือการรักษามะเร็งให้หายขาด

ล่าสุดนำเงินจากการหักรายได้ค่าธรรมเนียมขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกันส่วนหนึ่งมอบให้กับโครงการภูมิคุ้มกันบำบัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนโรคมะเร็งเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี

“พิชา รัตนธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแม้ทุกวันนี้การรักษาโรคมะเร็งจะมีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด หรือผสมผสานหลายวิธีร่วมกัน เพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

แต่อีกด้านอาจทำให้เซลล์ปกติหรืออวัยวะอื่น ๆ พลอยได้รับผลข้างเคียงไปด้วย ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีโอกาสรักษาหายขาด และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่นั้นอยู่กับการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“โดยตั้งแต่ปี 2551 ริเริ่มแคมเปญให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวิจัยรักษามะเร็งผ่านการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ โดยนำรายได้ค่าธรรมเนียมบางส่วนจากการขายบริจาคสมทบทุนสนับสนุนงานวิจัย และพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งยังต่อยอดไปยังผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวกันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมียอดบริจาคผ่านทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านบาท และมีความตั้งใจจะให้การสนับสนุนไปอย่างต่อเนื่องทุกปี”

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยโดดเด่นที่ทิสโก้ให้การสนับสนุนมีทั้งงานวิจัยการรักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันบำบัด(immunotherapy) จากศูนย์วิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นปีที่ 2 และการวิจัยและพัฒนาด้านการรักษาโรคมะเร็งในเด็กของโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นปีที่ 3

“ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงความคืบหน้าของงานวิจัยว่าภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในการรักษามะเร็ง จุฬาฯจึงตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งตั้งแต่ปี 2560 โดยมีพันธกิจอยู่3 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง antibody แอนติบอดีรักษามะเร็ง เพื่อทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และกลับมากำจัดเซลล์มะเร็งได้ตามธรรมชาติซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในเฟส 3 ของการสร้างต้นแบบที่มีประสิทธิภาพ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิตยาปริมาณสูงจากโรงงาน

สอง cancer vaccine วัคซีนเฉพาะบุคคลรักษามะเร็ง มีการออกแบบ และสร้างวัคซีนที่จำเพาะกับโปรตีนของเซลล์มะเร็ง เพื่อนำมาฉีดให้ผู้ป่วยสร้างภูมิต้านทานมะเร็ง

ขณะนี้พัฒนาระบบในการวิเคราะห์และเลือกส่วนของโปรตีนที่จำเพาะของมะเร็งผู้ป่วยแต่ละบุคคลเพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นวัคซีนที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น ๆ

สาม cell therapy กลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็งได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกยา ประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาคาร์ทีเซลล์โดยไม่ใช้ไวรัสในการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่จะลดต้นทุนการผลิต

โดยผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งทางโลหิตวิทยา ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

สำหรับที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีการมุ่งเน้นการวิจัยที่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่ และจะเริ่มทดลองรักษาผู้ป่วยรายแรกในเดือน ก.ย. นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์บำบัดโดยการนำยีนของแอนติบอดีใหม่ที่พัฒนาจากแอนติบอดีใส่เพิ่มเข้าไปในคาร์ทีเซลล์ด้วย

ขณะที่ “ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย หัวหน้าหน่วยโรคเลือด และโรคมะเร็งในเด็ก และปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวเสริมว่า ด้วยศักยภาพการแพทย์ของคนไทย เป็นไปได้ว่าอนาคตจะทำให้โรคมะเร็งสามารถรักษาหายขาด

หากเราผลิตนวัตกรรมการรักษาได้เอง จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาถูกลงเกือบ 10 เท่า

“ขณะนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีร่วมกับทีมวิจัยหลายคณะพัฒนานวัตกรรม CAR T cell หลายชนิดเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งสมองมัยอิโลมา ฯลฯ ซึ่งกำลังจะจดสิทธิบัตรและกำลังจะผลิตนวัตกรรมแอนติบอดี anti GD2 มะเร็งต่อมหมวกไต anti CD22 มะเร็งเม็ดเลือดขาว นวัตกรรมนาโนโพลิเมอร์ที่นำส่งยาสำหรับการรักษามะเร็ง ที่กำลังทดสอบนาโนโพลิเมอร์นำส่งยาสำหรับการรักษามะเร็งสมอง และมะเร็งตับ คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าเร็ว ๆ นี้”