บริบทใหม่ความยั่งยืน ชูข้อมูล-สิทธิพิเศษ-เศรษฐกิจหมุนเวียน

ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งมหันตภัยไวรัสโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ คือการดำเนินชีวิตบนวิถีแห่งความยั่งยืน ผลเช่นนี้ จึงทำให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนาเพื่อสังคมแห่งปี ในหัวข้อ “ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน”

โดยมีผู้นำจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และกุญแจความสำเร็จในการนำองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศชาติรอดพ้นจากมหันตภัยต่าง ๆ

สำหรับช่วงสัมมนาในหัวข้อ “วิถียั่งยืน ชุบชีวิตธุรกิจ-สังคม (2)” มีผู้ร่วมเสวนาทั้งหมด 3 คน ได้แก่ “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ “พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)

Big Data ต่อยอดธุรกิจยั่งยืน

“ดร.ภากร” ระบุว่า ในอดีตผ่านมาตลาดทุนไทยถูกมองว่า ข้อมูล “ไม่น่าเชื่อถือ” ฉะนั้น โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้น่าเชื่อถือ จึงมีการจัดทำกฎระเบียบต่าง ๆ และถือเป็นจุดเริ่มต้นให้มองเรื่อง corporate social responsibility (CSR) หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจที่มากขึ้นจนทำให้เกิดเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อใช้ดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังเกิดแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หรือ ESG (environment สิ่งแวดล้อม, social สังคม, governance ธรรมาภิบาล) จนทำให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง (stakeholders) มีความเข้าใจมากขึ้นในแง่ของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยน นักลงทุนจึงไม่ได้มองแค่เรื่องการลงทุนเท่านั้น แต่ยังนำ big data มาช่วยวิเคราะห์ว่าจะทำเรื่อง ESG ให้มากขึ้นได้อย่างไร

อีกทั้งยังนำ big data มาใช้เปรียบเทียบกับภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันว่า มีการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร และจากนั้นจึงเกิดการทำแพลตฟอร์มที่ใช้รวบรวมข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่ส่งรายงานมาที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สำหรับแพลตฟอร์มดังกล่าวยัง “เชื่อมโยง” องค์กรต่าง ๆ ให้ร่วมมือเชิงข้อมูลเพื่อให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ แต่จะมีความเป็นไปได้หรือไม่อยู่ที่เป้าหมายของแต่ละองค์กรว่าจะนำมาใช้ SET link ต่อยอดข้อมูลไปจนถึงรายงานประจำปี เพื่อส่งต่อไปจนถึงนักวิเคราะห์และนักลงทุน ในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

“เรามองไปจนถึงขั้นที่ว่า ข้อมูลในระบบจะถูกพัฒนาต่อให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างรัฐ และเอกชน หรือรูปแบบที่เรียกว่า PPP (public-private partnership) หรือในรูปแบบอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคต”

นอกจากนี้ CSR in practice จะเป็นสิ่งที่จะเข้ามาแสดงในงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้นักลงทุนเข้าใจและวิเคราะห์ความเสี่ยงของบริษัทต่อไป ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญกับประเด็น ESG มากขึ้น ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯก็อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุนผ่านการนำเสนอข้อมูล ด้วยการจัดทำกลุ่มดัชนี เช่น ดัชนี SET THSI ที่รวบรวมบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ขณะที่หนึ่งในแผนงานระยะข้างหน้าของตลาดหลักทรัพย์ฯสำหรับการจัดตั้งกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้นแห่งที่ 3 นอกจากจะเป็นความตั้งใจของตลาดหลักทรัพย์ฯในการเปิดช่องทางให้ธุรกิจขนาดเล็กอย่าง startup และ SMEs สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนแล้ว ยังตั้งใจให้กระดานดังกล่าวเป็นช่องทางผลักดันให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน หรือ SE (social enterprise) เข้ามาระดมทุนได้อีกด้วย

Incentive สร้างความร่วมมือ

ขณะที่ “ศุภชัย” กล่าวว่า ความตระหนักรู้เป็นจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน ซึ่งฟอรัมภาคธุรกิจไทย ในวิถียั่งยืน ครั้งนี้เป็นส่วนช่วยสร้างความตระหนักรู้ในสังคม เพราะผมเดินทางไปเวทีต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น World Economic Forum และ One Young World มีโอกาสพบผู้นำจากหลายประเทศ

ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย
ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

แต่สิ่งที่ผู้นำเหล่านั้นพูดเหมือนกัน คือ ปัญหาในสังคมทั้งหมดต้องแก้โดยเอกชน เพราะภาครัฐทางฝั่งการเมืองมีความต่อเนื่องน้อยกว่าเอกชน รัฐบาลมีหมดวาระ และเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา นโยบายต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไป

ที่สำคัญ ภาคเอกชนมีบทบาทระหว่าง 2 โลก คือ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการปฏิบัติตามที่ตลาดต้องการ ดังนั้นจะเห็นข้อมูลทั้ง 2 ด้าน จึงทำให้มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาในสังคม ทั้งนี้ บทบาทไม่ใช่เฉพาะการทำซีเอสอาร์ แต่ภาคเอกชนสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาระดับโลก ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาก่อนได้ ดังเช่น 3 ด้านนี้

1.ภาวะโลกร้อน (global warming) ที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการคาดการณ์ว่า ถ้าบวกเพิ่มอีก 10% สายพันธ์ุสัตว์โลกจะหายไป 16% ซึ่งรวมถึงมนุษย์ด้วย

2.ตั้งเป้าการบรรลุสถานะของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (net-zero carbon)

3.ขยะเหลือศูนย์ (zero waste) 4.ความเสมอภาค (human rights) โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา เมื่อภาคธุรกิจเริ่มตั้งเป้าใน 4 ประเด็นข้างต้นก็จะเริ่มขยับและเดินหน้าก้าวถัดไปได้เอง

ในฐานะที่ “ศุภชัย” สวมหมวกซีอีโอของเครือซีพีด้วยจึงกล่าวว่า มีโครงการที่ ซี.พี.มุ่งขับเคลื่อนความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมจัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จ.น่าน อาจพูดได้ว่าเราตามรอยของภารกิจของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ

“สิ่งที่เราทำคือพยายามไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อดูว่าชาวบ้านสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้หรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความท้าทายในเรื่องระบบชลประทาน และค่าขนส่งแพง แต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก นอกจากนั้นมีการพึ่งระบบกู้ยืม เพื่อนำเงินมาทำเกษตร และเงินส่วนหนึ่งมาใช้ดำรงชีวิตส่งลูกหลานเรียนหนังสือ ซึ่งไม่ใช่การทำการเกษตรตามโมเดลธุรกิจ หรือเกษตรอุตสาหกรรมที่จะยั่งยืน และเป็นวงจรที่เปลี่ยนได้ยาก”

“เนื่องจากพวกเขามีวิถีชีวิตอยู่บนเขา แต่มีกฎหมายออกมาทีหลังว่า พื้นที่บนเขาที่ชาวบ้านเคยใช้ทำเกษตรเป็นพื้นที่ป่า จึงทำให้ชาวบ้านหลายคนไม่มีพื้นที่ทำกิน ซี.พี.จึงพยายามดูว่ามีพืชอะไรที่เป็นมิตรต่อป่าและใช้พื้นที่น้อย เหมาะสมกับระบบชลประทานที่จังหวัดน่าน จึงได้คำตอบว่ากาแฟ เพราะปลูกกาแฟเพียง 1 ไร่ ให้ผลกำไรเท่ากับ 15 ไร่ของการปลูกข้าวโพด ทั้งยังใช้เป็นแนวกันไฟได้”

อีกอย่างที่เราพยายามผลักดันคือ เรื่องกฎระเบียบบ้านเมือง ด้านกฎหมายที่ดินทำกิน โดยการขอให้รัฐบาลให้ incentive (สิทธิพิเศษ) แก่ชาวบ้านที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ให้พวกเขาสามารถทำกิน และดูแลรักษาป่าอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งจะจูงใจให้คนที่นั่นเริ่มอยู่ในกฎระเบียบ เป็นการช่วยพวกเขาค่อย ๆ ปรับตัว รวมถึงมีหลักประกัน (margin) การซื้อขั้นต่ำ และทำความร่วมมือแบบ PPPP (public-private-people partnership หรือ 4P)

นอกจากนั้น “ศุภชัย” ยังกล่าวว่า การจะจูงใจให้ธุรกิจสตาร์ตอัพใหม่ ๆ มาช่วยประเทศปรับตัวสู่ความยั่งยืน องค์กรขนาดใหญ่ต้องมี incentive บางอย่างที่ไม่ใช่จำนวนเงินให้กับพวกเขา เช่น การให้รางวัลและการชื่นชมจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในโลก 4.0 ต้องทำงานร่วมกันในเรื่อง neutral carbon footprint (กิจกรรมชดเชยคาร์บอน) มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตมาชดเชยกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของแต่ละองค์กร หรือในอนาคตอาจมีการซื้อขายเครดิตของเสีย (waste) ในตลาด circular economy จนทำให้เกิดดีมานด์ใหม่ และอาจเป็นการซื้อขายในตลาด bitcoin ในสกุลเงิน cryptocurrency

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

“พิมพรรณ” กล่าวว่า “โลกมีปัญหา และการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งรวดเร็ว รุนแรง และถี่ขึ้นมาก ดังนั้นการสร้างความยั่งยืนในภาคธุรกิจจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง และการสร้างความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งดิฉันเพิ่งเข้ามาทำงานในตลาดทุนไทย หรือตลาดหลักทรัพย์ฯเพียง 1 ปี จากเดิมทำงานอยู่ในงานสายพัฒนาเพื่อสังคมมาตลอด จึงทำให้เห็นงานพัฒนาทั่วประเทศ”

พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN)

“จนได้พบว่า scope กับ scale ของปัญหาแต่ละเรื่องไปเร็วมากจนแก้ไม่ทัน ดังนั้น ดิฉันจึงเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เพราะตอนนี้มองเห็นการขับเคลื่อนของตลาดทุนอย่างเป็นองคาพยพ เพื่อจะทำให้ประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง

เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนฯ หรือ TRBN (Thailand Responsible Business Network) จึงเป็นเครือข่ายที่มีองค์กรทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯที่เห็นความสำคัญ และเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการนำเอาเรื่องความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในภาคธุรกิจไทย โดยจะมีบทบาทการขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก คือ

หนึ่ง low carbon business หรือ การส่งเสริมธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำซึ่งหัวใจสำคัญที่เราขับเคลื่อนมาตลอด 1 ปี คือ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

สอง inclusive growth หรือการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การที่บริษัทในตลาดทุนไทยจะเติบโตได้ business model ของแต่ละองค์กรควรจะนำพา stakeholder และห่วงโซ่อุปทานขององค์กรเติบโตไปด้วย

สาม corporate governance หรือบรรษัทภิบาล การกำกับดูแลกิจการให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม บทบาทของ TRBN จะเดินไปพร้อมกับผู้เล่นอื่น ๆ ในตลาดทุน และมีกรอบสากล หรือ standard setting เป็นมาตรฐานขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เช่น DJSI (Dow Jones Sustainability Index) และ UN Global Compact รวมไปถึงคำที่เกิดขึ้นใหม่อย่าง sustainable accounting และ climate disclosure standards board ที่เกี่ยวกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์แก่บริษัทต่าง ๆ ช่วยในการขับเคลื่อนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง พร้อมกับเปรียบเทียบกับการดำเนินงานตนเอง และโปรโมตกิจกรรมที่ทำ เพื่อให้เกิดผลตอบรับ ซึ่ง TRBN ทำงานอยู่ในขั้นนี้ เพื่อสนับสนุนแต่ละบริษัทให้ทำจริง รายงานได้ เปิดเผยข้อมูลได้ จากนั้นก็ถอดบทเรียนให้เป็น guide principle หรือแนวทางปฏิบัติที่ดีจนทำให้องค์กรนั้น ๆ กลายเป็น common practice ของภาคธุรกิจ

“ตลอดการดำเนินงาน 1 ปีผ่านมา มีการนำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) มาเป็นหัวข้อให้แก่บริษัทต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการขยะ ของเสีย หรือของที่ไม่ใช้แล้ว เพราะเป็นโจทย์ที่ง่าย และถ้ามองเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ เราดึงมาใช้จนเหลือน้อย แล้วก็ทิ้งจนกลายเป็นภาระ ดังนั้น คอนเซ็ปต์ของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือจะทำอย่างไรให้ทรัพยากร หรือวัตถุดิบที่เราผลิตมาเป็นของใช้ ถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด หรือนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้สร้างมูลค่าใหม่”

“ซึ่งมี 2 ลักษณะที่บริษัทต่าง ๆ สามารถทำได้ คือ close loop ภายในการดำเนินธุรกิจนั้น ๆ ต้องทำให้เกิดขยะน้อยสุด และ open loop หมายถึง waste จากธุรกิจหนึ่ง อาจกลายเป็นต้นทุนของธุรกิจหนึ่ง หรือธุรกิจกับผู้บริโภคเกิดการไหลเวียนของวัสดุขยะ เพื่อนำกลับมาสร้างมูลค่าใหม่ได้”

“พิมพรรณ” กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี กำลังลงทุนสร้างโรงงานพลาสติกรีไซคลิ่งขนาดใหญ่มาก มี capacity รองรับขยะพลาสติกเข้าระบบ 6 หมื่นตันต่อปี

ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ในประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมเรื่องการแยกขยะต้นทางที่บ้าน หมายความว่าจีซีต้องจัดการกับ value chain ตั้งแต่การคัดแยก ลำเลียงเข้าระบบ จนกระทั่งเมื่อได้เม็ดพลาสติกจากรีไซเคิลแล้ว จะต้องคิดว่านำไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร และถ้าหากทำได้จริงแปลว่าเราจะสามารถนำพลาสติกไม่ใช้แล้วเข้ามาในระบบนี้ได้ 6 หมื่นตันต่อปี อันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้เกิดสตาร์ตอัพ เอสเอ็มอีตามมา

นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้สังคม คือ ลดภาระของบ่อฝังกลบ ทำให้ขยะพลาสติกไม่หลุดลงไปในทะเล หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ ส่วนจีซีก็ได้การประกอบกิจการที่ดี ผลกำไรดี มูลค่าแบรนด์สูงขึ้น หรือแม้แต่มูลค่าหุ้นในตลาดก็จะสูงตาม

“การขับเคลื่อนที่ดิฉันมองเห็นวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน ผู้บริโภค ภาครัฐ หรือเอ็นจีโอต่าง ๆ ต่างตั้งเป้าหมายหลากหลายในเรื่องความยั่งยืน เช่น ภายใน 2030 ต้องเรียกคืนพลาสติกให้ได้จำนวนมาก หรือบรรจุภัณฑ์ที่ส่งออกไปต้องกลับเข้ามาสู่ระบบได้หมด หรือต้องทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดรีไซเคิลได้ 100% หรือบางบริษัทตั้งเป้าเป็น carbon neutral”

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า บริษัทไทยมีความพร้อมมาก ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้อง engage ให้ผู้บริโภค ช่วยกันแยกขยะพลาสติกอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นทาง และภาครัฐก็ต้องมีบทบาทเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันด้วย”

ถึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต