ถอดมุมคิด 3 นักวิจัย “ลอรีอัล” เพื่อสตรีวิทยาศาสตร์

ต้องยอมรับว่า โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ “For Women in Science” ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในระดับสากลและในระดับประเทศ เนื่องจากเป็นโครงการที่เริ่มขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อน ด้วยความร่วมมือระหว่างลอรีอัลกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของลอรีอัล ฟาวน์เดชั่น

ทั้งนั้นเพื่อสนับสนุนและเชิดชูผลงานของนักวิจัยสตรีทั่วโลกในการส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีวงการวิทยาศาสตร์

ที่ผ่านมาโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก ทั้งยังมอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates กว่า 100 ท่าน

สำหรับประเทศไทย ลอรีอัลดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีที่ 18 โดยมีการมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 2 สาขา คือสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์ภายภาพ

ดังนั้นตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 18 ปี จึงมีนักวิจัยสตรีไทยได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้รวมทั้งสิ้น 75 ท่าน

ขณะที่ในปี 2563 ปรากฏว่ามีนักวิจัยสตรี 3 ท่าน จาก 2 สาขาที่ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพคือ “ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์” จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัย “ไหมไทยจากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์”

และ “ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์” จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัย “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์”

สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพคือ “ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข” จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัย “เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน”

เบื้องต้น “อินเนส คาลไดรา” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดย IMD (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020) พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับ 6 สำหรับประเทศที่มีนักวิจัยสตรีที่โดดเด่นในวงการวิทยาศาสตร์จากทั้งหมด 60 กว่าประเทศทั่วโลกในหมวด Scientific Concentration ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ใช้ประเมินศักยภาพด้านดิจิทัลของไทยและประเทศอื่น ๆ

“โดยล่าสุด 2 นักวิจัยสตรี ทั้งยังเคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการทุนวิจัยลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติในปี 2016 คือศาสตราจารย์เอ็มมานูแอลล์ ชาร์ปงทิเย และศาสตราจารย์เจนนิเฟอร์ เอ ดอดนา คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2020 จากการคิดค้นเทคนิคการตัดต่อพันธุกรรม สำหรับครั้งสุดท้ายที่รางวัลโนเบลมอบให้ผลงานของนักวิจัยหญิงล้วนคือเมื่อปี 1964 หรือ 56 ปีมาแล้ว ดังนั้นจึงนับเป็นรางวัลโนเบลที่ 5 ของนักวิจัยสตรีผู้ที่เคยได้รับการยกย่องจากโครงการในระดับนานาชาติ”

“สำหรับปีนี้ต้องยอมรับว่า เรากำลังอยู่ในช่วงสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 และหลายภาคส่วนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เพราะมีส่วนสำคัญต่อการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้ลอรีอัลจึงสนับสนุนนักวิจัยสตรีมากขึ้นกว่าเดิมด้วยการเพิ่มทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 ไปเมื่อเดือนมิถุนายนผ่านมา ขณะเดียวกันยังคงมอบทุนวิจัยสำหรับโครงการเช่นทุก ๆ ปี”

“โดยปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 18 แล้ว ปรากฏว่ามีนักวิจัยสตรี 3 ท่าน จาก 2 สาขา ได้รับทุนในโครงการครั้งนี้ เพราะเราต้องการเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาสตร์ในระดับสากล ที่สำคัญเราต้องการเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศด้วย”

ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์
ดร.สุวัสสา บำรุงทรัพย์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ถึงตรงนี้ “ดร.สุวัสสา” จึงบอกเล่าถึงผลงานวิจัย “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์” ให้ฟังว่า ปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนเพื่อให้สัญญาณการตรวจวัดในไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของโรค

“งานวิจัยจึงมุ่งเน้นการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ โดยใช้อนุภาคนาโนร่วมกับเทคนิคเชิงแสง 2 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณการกระเจิงแสงรามาน และเทคนิคฟลูออเรสเซนส์ซึ่งมีความไวสูง สามารถตรวจวิเคราะห์เป้าหมายได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน”

“โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้การตรวจวิเคราะห์และตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เพราะงานวิจัยก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนในกลุ่มของอนุภาคนาโนทองและอนุภาคซิลิกานาโนบรรจุสารฟลูออเรสเซนส์ รวมถึงการปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของพื้นผิวอนุภาคนาโนให้เหมาะสมต่อการติดฉลากด้วยชีวโมเลกุล”

“เพื่อให้ได้อนุภาคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ที่มีความไวและความแม่นยำสูง สำหรับการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองโรค ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการเฝ้าระวังและควบคุม เพิ่มความสำเร็จในการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของคนไทยจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศได้”

จุฑามาศ รัตนวราภรณ์
ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ “ผศ.ดร.จุฑามาศ” บอกเล่าถึงผลงานวิจัย “ไหมไทยจากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์” ว่าไหมไทยเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ โดยในรังไหมประกอบด้วยโปรตีนหลัก 2 ชนิดคือ เซริซิน และไฟโบรอิน เซริซินหรือกาวไหมนิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ และกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน

ขณะที่ไฟโบรอินเป็นโปรตีนเส้นใยที่มีความเข้ากันได้กับชีวภาพของร่างกาย จึงไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ, ไม่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังสามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย ขณะเดียวกันยังมีความเหนียวและยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับชีววัสดุธรรมชาติอื่น ๆ

“ด้วยเหตุนี้จึงสนใจสกัดไฟโบรอินจากรังไหมไทย และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรม อาทิ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ, การชะละลายสารก่อรูพรุน, การปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต, การพิมพ์ 3 มิติ และเทคนิคอิมัลชันในการผลิตระบบนำส่งยาจากไฟโบรอินไหมไทยในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ไฮโดรเจลชนิดฉีดได้, เส้นใยนาโน, แผ่นปะ และอนุภาคขนาดไมครอน ซึ่งสามารถปลดปล่อยยาได้อย่างจำเพาะ และเนิ่นนานเพื่อรักษาโรคมะเร็ง, โรคเบาหวาน, โรคข้อเสื่อม, โรคตาอักเสบที่เกิดจากต้อหินและต้อกระจก เป็นต้น”

“นอกจากนั้นยังนำไฟโบรอินไหมไทยมาผลิตเป็นโครงเนื้อเยื่อเพื่อการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง, กระดูก, กระดูกอ่อน, หมอนรองกระดูก และหลอดเลือด โดยงานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านชีววัสดุเพื่อการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย ทั้งยังช่วยลดการนำเข้า, ลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ และมีส่วนช่วยส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหมในประเทศด้วย”

บุญญาวัณย์ อยู่สุข
ดร.บุญญาวัณย์ อยู่สุข จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

สำหรับ “ดร.บุญญาวัณย์” บอกเล่าถึงผลงานวิจัย “เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน” ว่า งานวิจัยดังกล่าวมุ่งคิดค้นกระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม วิเคราะห์คุณสมบัติ ศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่าง ๆ ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะจำลอง ไปจนถึงการนำเอาไปทดสอบภายใต้สภาวะการใช้งานจริง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและเก็บข้อมูลในการนำไปพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด

“โดยงานวิจัยพัฒนาสารหล่อลื่นชีวภาพดังนี้คือน้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพติดไฟยาก น้ำมันผสมยางชีวภาพปราศจากสารก่อมะเร็ง และน้ำมันไฮดรอลิกชีวภาพ ซึ่งผลงานวิจัยจะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ กระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทางด้านโอลิโอเคมีภัณฑ์ให้เกิดขึ้น สนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และเป็นแนวทางในการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

อันเป็นคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศอย่างยิ่ง