บริบทยั่งยืน “ยูนิโคล่” มอบผลิตภัณฑ์รักษ์โลกเพื่ออนาคต

เพื่อสร้างเสื้อผ้าที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง และทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายสัญชาติญี่ปุ่น เช่น UNIQLO และ GU และอีก 6 แบรนด์ จึงมุ่งมั่นออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเสื้อผ้าที่ดี ที่ไม่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมมากเกินไป

ล่าสุด “ฟาสต์ รีเทลลิ่ง” เผยแพร่รายงานด้านความยั่งยืนประจำปี 2564 ซึ่งรายงานฉบับนี้นำเสนอหลากหลายมุมมองเกี่ยวกับทิศทาง และความเป็นไปได้ของสังคมที่ยั่งยืน รวมถึงบทสัมภาษณ์อีกมากมายที่ครอบคลุมเนื้อหาจากบุคคลหลากหลายกลุ่ม

โดยบทความแรกของรายงานฉบับนี้เป็นการถ่ายทอดบทสนทนาพิเศษระหว่าง “ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด และ “ฌาคส์ อัตตาลี” ซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส ที่ร่วมคิดวิเคราะห์ว่า ไวรัสโคโรน่ากำลังเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างไรบ้าง และแวดวงอุตสาหกรรมจะสามารถพัฒนาต่อยอดท่ามกลางสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

“ทาดาชิ ยาไน” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด และ “ฌาคส์ อัตตาลี” ซึ่งเป็นทั้งนักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ และนักอนาคตศาสตร์ ชาวฝรั่งเศส

“ทาดาชิ ยาไน” กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้คือ การทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมนุษยชาติสามารถช่วยแก้ไขเรื่องนี้เพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตได้ แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่า พวกเราเหลือเวลาอีกเท่าไหร่ที่จะลงมือทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโควิด-19 มาเร่งให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเร็วขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการรูปแบบเสื้อผ้าที่เปลี่ยนไป เช่น อยากแต่งกายที่ให้ความรู้สึกสบาย และสามารถแสดงความเป็นตัวเอง รวมไปถึงวัสดุและกระบวนการผลิตต้องมีความยั่งยืน ดังนั้น เราต้องทำเสื้อผ้าให้มีส่วนสำคัญกับการทำให้สิ่งแวดล้อมน่าอยู่มากขึ้น เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คนรุ่นต่อไป

ทั้งนี้ การทำเพื่ออนาคตกำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าบางคนจะสนใจเพียงประเทศตนเอง หรือสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหา เพราะการระบาดกำลังโจมตีทุกประเทศ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องการความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าเราจะยังหาแรงผลักดันไม่ได้

“หากประเทศค่าง ๆ ดำเนินงานใด ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองอย่างเดียว อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง นอกจากนั้นคนบางกลุ่มไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เช่น มองว่าความแตกต่างทางเชื้อชาติ และชาติพันธุ์เป็นอุปสรรค จึงพยายามมองข้ามการทำความเข้าใจความแตกต่าง ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะมีโลกที่แคบ คนเคารพคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกันเท่านั้น และไม่มีพลังบวกใด ๆ”

“ที่ผ่านมาบริษัทให้การสนับสนุนผู้คนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เราบริจาคหน้ากากและชุดอุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ในสถานพยาบาล พร้อมกับเสื้อซับใน AIRism ที่ช่วยระบายเหงื่อ และความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสื้อผ้าที่จำเป็นอื่น ๆ ของ UNIQLO ซึ่งได้รับการตอบรับในเชิงบวก ช่วยให้คนงานในคลินิกที่สวม AIRism ภายใต้ชุดป้องกันลดความรู้สึกอับ และไม่สบายตัวลงได้มาก ทำให้ชีวิตการทำงานไม่เครียด”

หน้ากาก ชุดอุปกรณ์ป้องกันในสถานพยาบาล และเสื้อซับใน AIRism ที่บริจาคในช่วงโควิค-19 ระบาด

“ที่สำคัญ เรายังบริจาคเงิน และสิ่งของอื่น ๆ ใน 26 ประเทศ ด้วยความร่วมมือของ UNIQLO Global Brand Ambassadors องค์กรกีฬา และ NPO และตอนนี้กำลังดำเนินการบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ”

“ฌาคส์ อัตตาลี” เห็นด้วยกับปัญหาสิ่งแวดล้อมว่ามีความสำคัญตามที่ “ทาดาชิ ยาไน” แสดงความคิดเห็น โดยเขากล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องไม่มองข้ามประเด็นทางสังคม และประเด็นของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ทั้งยังต้องพิจารณาว่า การเมืองในแต่ละประเทศทำให้ประชาชนหมดกำลังใจหรือไม่ คนงานได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องหรือไม่ และมีวิธีปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

“สังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้ยังยั่งยืนไม่เพียงพอ เพราะสังคมต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนรุ่นต่อไปเป็นหลัก เพื่อให้เป็นสังคมเชิงบวก เป็นสังคมที่ให้คุณค่ากับเศรษฐกิจแห่งชีวิต และในส่วนของเสื้อผ้า จะต้องทำจากวัสดุที่ยั่งยืนเท่านั้น ใช้งานได้ยาวนาน และมีส่วนช่วยในเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย ดังนั้น เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งอย่างรวดเร็วจะไม่ส่งผลดีต่อคนรุ่นต่อไป ความต้องการเสื้อผ้าที่เคารพต่อธรรมชาติ และมนุษยชาติจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแพร่ระบาดของไวรัส และความขัดแย้งทั่วโลกล้วนเป็นความเสี่ยงหลัก จึงต้องวิเคราะห์จุดแข็งของแต่ละประเทศ และหากมีประเทศใดทำการต่อต้านประเทศอื่นทางการเมือง วิธีแก้เบื้องต้นคือ การทำความเข้าใจวัฒนธรรม และเคารพความแตกต่าง เพราะนั่นอาจเป็นวิธีสำคัญในการทำความเข้าใจคู่ต่อสู้ นอกจากนั้น คาร์บอนฟุตพรินต์เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขด้วย และจำเป็นต้องมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหานี้”

“คาร์บอนฟุตพรินต์ไม่เพียงเป็นปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจการนำเข้า และส่งออกข้ามประเทศ สิ่งนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศเดียว และการมีส่วนร่วมของบริษัทที่มีการดำเนินงานทั่วโลกจึงมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด”

สำหรับรายงานด้านความยั่งยืนฉบับนี้ ยังรวบรวมโครงการที่มีความโดดเด่นของฟาสต์ รีเทลลิ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีไว้ด้วย โดย “ยูกิฮิโระ นิตตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินกิจการภายใต้พันธกิจด้านความยั่งยืนที่เรียกว่า “การปลดล็อกพลังแห่งเสื้อผ้า” และหาแนวทางสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของสังคมผ่านการทำธุรกิจเครื่องแต่งกาย

“เราตระหนักดีว่าการเติบโตของธุรกิจขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านความยั่งยืนของสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก จึงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมใน 6 ด้าน ได้แก่ การสร้างคุณค่าใหม่ ๆ ผ่านสินค้าและบริการ, การเคารพสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน, การเคารพสิ่งแวดล้อม, การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของชุมชน, การสนับสนุนให้พนักงานบรรลุเป้าหมาย และบรรษัทภิบาล”

พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดหามาตรการเพื่อดำเนินพันธกิจ และบรรลุเป้าหมายแต่ละด้าน ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ฟาสต์ รีเทลลิ่งดำเนินกิจการภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ซึ่งเป็นโครงการระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับประเด็นด้านความยั่งยืนด้วย

“นับตั้งแต่การก่อตั้งหน่วยงานให้ความช่วยเหลือต่อสังคมเมื่อปี 2554 เราทำหลายโครงการ เช่น โครงการบริจาคเสื้อผ้าเพื่อช่วยเหลือค่ายผู้อพยพลี้ภัยและผู้ประสบภัยธรรมชาติทั่วโลก, ความพยายามในการสร้างความปลอดภัย, ความมั่นคง และความเป็นธรรมในสภาพแวดล้อมในการทำงานของแรงงาน และโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุ้มครองแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน”

“ยูกิฮิโระ นิตตะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มบริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด (ขวา)

“ยูกิฮิโระ นิตตะ” อธิบายถึงโครงการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยว่า ยูนิโคล่เลือกทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัย และบริจาคเสื้อผ้าให้กับกลุ่มผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันมีการบริจาคสะสม 41.1 ล้านชิ้น กระจายใน 75 ประเทศ และดินแดนต่าง ๆ ทั้งยังมีผู้รับการสนับสนุนมากกว่า 9.4 แสนคน

“บริษัทร่วมมือกับ UNHCR เมื่อปี 2554 เพื่อขยายจากเรื่องบริจาคเสื้อผ้าไปสู่การจ้างงาน และความช่วยเหลือฉุกเฉิน ขณะนี้มีการจ้างงานผู้ลี้ภัยภายใต้แบรนด์ยูนิโคล่ 121 คน และเมื่อเดือน มิ.ย. 2563 เราทำแคมเปญระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อสู้กับโควิด-19 ที่มาจากรายได้การขายสินค้าที่เกี่ยวกับทารก 10 ล้านเยน บริจาคให้กับครอบครัวและเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัย”

“ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม เราพยายามครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกตัวอย่าง เช่น UNIQLO ใช้วัสดุโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่ทำจากขวด PET หลังการบริโภค เพื่อสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะผู้ริเริ่มการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ครั้งแรกภายใต้โครงการ RE.UNIQLO ล่าสุดบริษัทเปิดตัวเสื้อแจ็กเกตรุ่น Recycled Down เมื่อ พ.ย. 2563 โดยใช้ขนเป็ดที่นำกลับมาใช้ใหม่ จากเสื้อที่ทิ้งแล้ว 620,000 ตัว ในญี่ปุ่น”

แจ็กเกตรุ่น Recycled Down ที่ใช้ขนเป็ดรีไซเคิล

สำหรับเป้าหมายระยะยาว 20 ปีต่อจากนี้ บริษัทจะพัฒนาต่อเนื่องใน 3 หัวข้อ คือ รับมือโลกร้อน โดยยึดความตกลงปารีสเป็นหลักดำเนินงานที่สำคัญ ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งซัพพลายเชน, เตรียมช่วยเหลือเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ และยกระดับโครงการ RE.UNIQLO ในการนำวัสดุอื่นมารีไซเคิลผลิตใหม่ได้จากปัจจุบันทำเฉพาะแต่แจ็กเกตรุ่น Recycled Down เท่านั้น”

นับว่า รายงานด้านความยั่งยืนประจำปีฉบับนี้ เป็นการปูทางเพื่อให้สังคมช่วยหาคำตอบว่าจะส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้กับคนรุ่นต่อไปได้อย่างไร และกิจกรรมในเชิงธุรกิจประเภทใดที่จะนำทางไปสู่โลกที่น่าอยู่มากขึ้น