ลูกจ้างมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ภายใน 9 ส.ค.นี้รับเงินเยียวยา 2,500 บาทวันศุกร์ที่ 13 ส.ค. และจะเริ่มโอนให้นายจ้าง 10 ส.ค.เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ระบบขึ้นว่าไม่ได้สิทธิเยียวยา สามารถยื่นร้องเรียน หรือเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงประเภทกิจการ ภายใน 1 ต.ค.นี้
วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จากที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการเยียวยาให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ของรัฐบาล ใน 9 ประเภทกิจการ คือ 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่น ๆ
5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
โดยให้ลูกจ้างคนละ 2,500 บาท ส่วนนายจ้างได้ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คน หรือ 600,000 บาท การโอนเงินให้ลูกจ้างจะเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนเท่านั้น ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดาจะได้รับผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคลจะได้รับผ่านบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง
ทั้งนี้ การโอนเงินแบ่งเป็นรอบ ๆ โดยรอบแรกวันที่ 4-6 สิงหาคม 2564 โอนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิไปแล้ว 2,434,182 คน เป็นจำนวนเงิน 6,085,0000,000 บาท
แต่ยังมีกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกกว่า 2 แสนคน ที่การโอนทำไม่สำเร็จ เนื่องจากสาเหตุดังนี้
- ไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ธนาคารกับเลขบัตรประชาชน ประมาณ 92%
- บัญชีปิด ประมาณ 7%
- ผูกพร้อมเพย์กับเบอร์โทรศัพท์ และสาเหตุอื่น ๆ อีกประมาณ 3%
ทางสำนักงานประกันสังคมกำหนดว่า ภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ผู้ประกันตนที่ตกหล่นจากการโอนเงินรอบแรก ต้องเร่งตรวจสอบสาเหตุ และรีบดำเนินการผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนให้แล้วเสร็จ ซึ่งสามารถทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ของธนาคารที่ท่านมีบัญชีอยู่
หรือผู้ที่บัญชีปิดไม่เคลื่อนไหวแล้ว ให้ดำเนินการเปิดบัญชีและผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชนให้แล้วเสร็จ เพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยา 2,500 บาท ที่สำนักงานประกันสังคมจะโอนให้อีกรอบในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคมนี้
ส่วนนายจ้างที่จะได้ 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน สูงสุดไม่เกิน 200 คนนั้น ทางสำนักงานประกันสังคมพร้อมเริ่มโอนเงินงวดแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่ยังมีนายจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ยื่นขอรับเงินชดเชยเยียวยา ก็ขอให้ดำเนินการยื่นแบบความประสงค์โดยด่วน
ส่วนวันที่ 9 ส.ค. 2564 เป็นคิวลูกจ้างมาตรา 33 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มที่เพิ่มมาอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา รับเงินโอน 2,500 บาท
จากนั้นวันที่ 24 ส.ค. 2564 เป็นคิวของผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ซึ่งเป็นประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย ขับแท็กซี่ และอาชีพกลางคืน (เช่น เด็กเสิร์ฟ นักร้อง นักดนตรี) ใน 13 จังหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่เพิ่งสมัครและมีการตัดยอดมีสิทธิ์รับเงินเยียวยาไปเมื่อ 31 ก.ค. 2564 ต้องชำระเงินสมทบงวดแรกภายใน 10 ส.ค.นี้
และหลังจากวันที่ 24 ส.ค. 2564 เป็นคิวของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้มที่เพิ่มมาอีก 16 จังหวัด ที่เพิ่มใหม่ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง รวมกับการเยียวยา 13 จังหวัดเดิม เพิ่มอีก 1 รอบ เนื่องจากมีการขยายล็อกดาวน์ในพื้นที่ จะจ่ายเงินเยียวยาพร้อมกัน 2,500 บาท
โดยวิธีการจ่ายเงินให้ลูกจ้างจะเป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด คือ โอนเงินจะทำผ่านบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน