จัดสรรเงินทุนเพื่อความยั่งยืน

เงินทุน
CSR Talk

เอริค ลิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน ธนาคารยูโอบี

การต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทาย ไม่ว่าจะมองแง่มุมการใช้ชีวิตของผู้คน การทำธุรกิจ หรือเศรษฐกิจ มาตรการล็อกดาวน์ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายของผู้คนทั่วไป ไม่เว้นแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่ามกลางการล็อกดาวน์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ลดลง แต่การวิจัยจากโครงการศึกษาคาร์บอนทั่วโลกพบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 6 ในปี 2563 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2549

แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลับไปอยู่ที่ระดับอัตราก่อนเกิดโควิด-19 แต่การชะลอตัวที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วได้ส่งสัญญาณให้เห็นความจำเป็นในการดำเนินการที่ควรจะทำการคาดการณ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกจำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยมลพิษร้อยละ 7.6 ต่อปี

เป็นเวลา 10 ปี เพื่อจำกัดให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม จึงนับเป็นความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงาน เพื่อลดผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ และการใช้ชีวิตของเราที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกต่างดิ้นรนเพื่อค้นหาวิธีที่ดีที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด เพื่อปรับสมดุลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับ

หรือถูกนำออกจากระบบจนได้ชื่อว่ามีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (net zero emissions) ภายในปี 2593 โดยธุรกิจและผู้คนต่างกำลังพิจารณาหาวิธีการที่จะได้ผลมากที่สุด ที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านจากฐานล่างสู่ยอดบน

เมื่อความต้องการโซลูชั่นในการขับเคลื่อนความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นยิ่งเน้นย้ำให้เห็นบทบาทเฉพาะของภาคการเงินและธนาคาร ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมและโลกให้ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนขึ้น ทั้งนั้น เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตอย่างรับผิดชอบ

โดยจะเห็นว่าโอกาสในการเปลี่ยนผ่านมีมากมายมหาศาล เห็นได้จากการวิจัยโดย Bain & Company ที่ประมาณการว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีให้แก่ภาคธุรกิจภายในปี 2573 โดยธนาคารจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีการปรับสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

การมีวินัยในการจัดสรรเงินทุน และการแสวงหาผลตอบแทน ควบคู่ไปกับดัชนีชี้วัดที่สมดุลซึ่งมีตัวบ่งชี้ความสามารถในการทำกำไร และการสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ธนาคารสามารถสนับสนุนลูกค้าและชุมชนในระยะยาวเพื่อให้มั่นใจว่าความยั่งยืนจะคงอยู่อย่างยั่งยืน

ในฐานะตัวกลางทางการเงิน ภาคการธนาคารมีความรับผิดชอบในการเชื่อมโยงแนวทางการดำเนินงานจากฐานล่างสู่ด้านบน และด้านบนสู่ฐานล่าง เพื่อปรับปรุงให้โลกที่เราอาศัยอยู่และผู้คนมีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งการทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จอาจเป็นตัวขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ และเพื่อให้มั่นใจว่าการเงินได้เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ยูโอบีสามารถช่วยให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้าอย่างรับผิดชอบ อีกทั้งมีความพร้อมที่จะสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

ปีที่แล้วธนาคารกลางแห่งสิงคโปร์ (MAS) เปิดตัวโครงการสินเชื่อและเงินช่วยเหลือสีเขียว และที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืน (Green and Sustainability-Linked Loan Grant Scheme) เป็นครั้งแรกของโลก เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารต่าง ๆ ได้พัฒนากรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการธนาคารเปลี่ยนแปลงการจัดลำดับความสำคัญอย่างเห็นได้ชัด สินเชื่อที่เกี่ยวกับกรอบแนวคิดการเข้าถึงเงินทุนที่ยั่งยืนของยูโอบีได้นำไปใช้สำหรับโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถช่วยจัดการกับความท้าทายด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองขนาดใหญ่

ขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง โดยกรอบแนวคิดนี้ได้กำหนดเกณฑ์คุณสมบัติที่สามารถช่วยให้ลูกค้าองค์กรของเรากำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของตนเองได้ ในปี 2563 เพียงปีเดียวยูโอบีได้ขยายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนไปยังบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2562

ยกตัวอย่างเช่น โครงการยู-โซลาร์ของยูโอบี ได้จัดหาเงินทุนในราคาที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจ และบุคคลทั่วไปได้เข้าถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน การเปิดตัวโครงการในประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้พอร์ตโฟลิโอลูกค้าพลังงานหมุนเวียนของเราเพิ่มขึ้น 2 เท่าได้ก่อนกำหนด 3 ปีจากเป้าหมายที่ตั้งไว้

โซลูชั่นดังกล่าวเน้นให้เห็นถึงความรับผิดชอบของธนาคารที่จะต้องเป็นด่านหน้าในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ในขณะที่เราก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าธนาคารที่ยั่งยืนมีส่วนสำคัญในการปรับใช้และส่งเสริมแนวปฏิบัตินี้เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่าน

ดังนั้น ธนาคารที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังช่วยให้นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถลงทุนในความยั่งยืนของเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยอาศัยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขนาดใหญ่ เมื่อความยั่งยืนกลายเป็นกระแสหลัก นักลงทุนจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า การออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนประจำปีของโลก รวมถึงพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากเกือบ 310,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 เป็นมากกว่า 730,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 โดยราวร้อยละ 60 ของนักลงทุนในการเสนอขายพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของยูโอบีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นนักลงทุนที่มุ่งเน้นด้านความยั่งยืน นับเป็นครั้งแรกในสิงคโปร์เกิดขึ้นเดือนเมษายน 2564

สำหรับนักลงทุนรายย่อยในสิงคโปร์ เรามีการวางกรอบการตรวจสอบที่ชัดเจน โดยผนวกเรื่อง ESG เข้าไปในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนของเราทั้งหมด เพื่อให้เราสามารถช่วยผู้บริโภคมีส่วนสร้างความแตกต่างได้ไม่ว่าจะมีขนาดเท่าใด กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้น ESG

อาทิ กองทุนเปิด ยูไนเต็ด ซัสเทนเนเบิล เครดิต อินคัม ฟันด์ ของ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) รวมถึงกองทุนไพรเวต อีควิตี้ เช่น กองทุนเอเชีย อิมแพค อินเวสเม้นท์ ฟันด์ ของ UOB Venture Management ยังตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ทั้งยังขับเคลื่อนด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงมาขับเคลื่อนธุรกิจ สิ่งแวดล้อมและชุมชน

สำหรับภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อความยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่ดี และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในอนาคตอันใกล้ธุรกิจที่สามารถผสานความได้เปรียบในเรื่องของความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจจะกลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพในการเผชิญกับความเสี่ยงทั้งทางกายภาพ และการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ ธนาคารต้องเป็นผู้นำโดยเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจว่าธุรกิจและแนวทางปฏิบัติได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของ MAS ได้ระบุถึงความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม

เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของภาคการเงินโดยคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ที่ดิน

ยูโอบีหนึ่งในธนาคารชั้นนำในภูมิภาค จึงนับว่าเหมาะสมในการร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับภูมิภาคอาเซียน ตอบรับกับความต้องการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค และด้วยการขับเคลื่อนองค์กรด้วยค่านิยมที่เรายึดมั่นเสมอมา สิ่งนี้นับเป็นการเคียงข้างลูกค้าทำสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ธนาคารยังต้องเลือกใช้ประโยชน์จากความสามารถในการสร้างผลกระทบเชิงบวกภายในชุมชน นอกเหนือจากทำให้การธนาคารเข้าถึงได้และครอบคลุมมากขึ้นแล้ว เรายังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาว่าเราจะสามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดแก่ชุมชนที่ไหนและอย่างไรได้บ้าง

ดังจะเห็นว่ารัฐบาลต่าง ๆ กำหนดและเร่งดำเนินการตามแผนงานด้านความยั่งยืน ยูโอบีในภาคการธนาคารต้องก้าวขึ้นมาแสดงบทบาทสำคัญในการร่วมเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น การได้เป็นพันธมิตรสำหรับลูกค้าและธุรกิจในการกระตุ้นและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

นับเป็นเกียรติที่ลูกค้ามอบให้และเป็นความรับผิดชอบของธนาคารต่ออนาคตที่ยั่งยืน ในฐานะผู้ดูแลเงินทุนเรามีหน้าที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นับเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่แต่นี่คือสิ่งที่อนาคตของโลกเราต้องการ