ถกวิกฤตโลกร้อน สัญญาณร้าย-ผู้นำเร่งหาทางออก

ที่มา : Pixabay

พิธีเปิดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26 World Leaders Summit Opening Ceremony) เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยมีผู้นำจากทั่วโลกร่วมหารือทางออกแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน

สำหรับประเทศไทย ก่อนหน้านี้ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย จัดงานสัมมนา Global Compact Network Thailand-(GCNT) Forum 2021 ภายใต้แนวคิด “A New Era of Accelerated Actions”

โดยมีสมาชิก GCNT ประกอบด้วย องค์กรธุรกิจชั้นนำร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

IPCC ชี้สัญญาณอันตราย

เบื้องต้น “ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน

เป็นปัญหาของมนุษย์ในทุกด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ หากไม่ช่วยกันแก้ปัญหา หรือบริหารจัดการที่ดี คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2050 อาจจะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 10% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

“เพราะจากรายงานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ฉบับที่ 6 เผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคมผ่านมา ในรายงานฉบับนี้บ่งชี้สัญญาณอันตรายขั้นสูงสุดสำหรับมวลมนุษยชาติ ที่เราทุกคนจำเป็นต้องตระหนักรู้ในความรุนแรง และเร่งมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน”

“โดยรายงานได้ระบุชัดเจนว่า กิจกรรมมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงหลายพันปีผ่านมา เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นแล้วเกือบ 1 องศาเซลเซียส

และหากเรายังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วง 10 ปีข้างหน้าโลกเราจะร้อนขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นทศวรรษนี้”

ภาคธุรกิจไทยต้องปรับตัว

ขณะที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างงัดมาตรการปกป้องโลก ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับประเทศไทยไม่น้อย

เช่น สหภาพยุโรป ได้ประกาศใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน และจะมีผลให้ต้นทุนการส่งออกสินค้าของไทยไปทางอียูนั้นสูงขึ้น

“เท่าที่ทราบมาจะใช้ภายในปี 2566 ซ้ำร้ายไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็อยู่ในช่วงการศึกษามาตรการ CBAM เช่นกัน

ดังนั้น ภาคเอกชนไทยต้องเร่งและเตรียมความพร้อม ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองต่อมาตรการที่ทั่วโลกกำลังงัดขึ้นมาต่อสู้กันเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของประเทศและของโลกเราใบนี้”

เศรษฐกิจหมุนเวียนแก้โลกร้อน

สำหรับ “สมเจตนา ภาสกานนท์” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวเสริมว่า

กลุ่มธุรกิจของ ซี.พี. ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าในการนำธุรกิจทั้งหมดบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2573 โดยผ่านมาได้ร่วมปฏิบัติการแข่งขันเพื่อคาร์บอนเป็นศูนย์ หรือ Race to Zero ของสหประชาชาติ

“โดยมีการดำเนินการการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น, การชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือ ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว

รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาทำงานร่วมกับคู่ค้า เกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากขึ้นในกระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาผลิตสินค้าของ ซี.พี.”

“นอกจากนี้ยังนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาใช้ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ด้วยการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด รวมถึงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โดยตั้งเป้าหมายการลดขยะอาหาร และของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้”

ส่วน “โฮ เรน ฮวา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นและเส้นก๋วยเตี๋ยว กล่าวว่า

ปัจจุบัน ไทยวามีการดำเนินกลยุทธ์จากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ของพลังงานทดแทน มีการนำเอาของเหลือจากกระบวนการผลิตเช่น กากมัน และน้ำเสียมาหมักเป็นไบโอแก๊ส

เพื่อผลิตเป็นพลังงานสำหรับใช้ในกระบวนการผลิต และการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาของโรงงาน และโครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติก

“ซึ่งเป็นผลผลิตต่อยอดจากแป้งมันสำปะหลังของบริษัท และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ทั้งยังสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น ภาชนะ, ถุงพลาสติก

และของใช้ในการเกษตรทั่วไป ที่สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ กระบวนการผลิตของพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลังยังลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก

เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตพลาสติกจากปิโตรเลียมถึง 5 เท่า ทั้งหมดนี้สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ในอนาคตอีกด้วย”

พลังงานสะอาดทางแก้ปัญหา

“วรพงษ์ นาคฉัตรีย์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.กำลังจะมุ่งสรรค์สร้างพลังงานแห่งอนาคต
ทั้งพลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงาน (energy storage) รวมไปถึงห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“สำหรับแนวทางการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรากำหนดแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนในการปล่อยไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ควบคุมในกระบวนการธุรกิจ

เช่น นำก๊าซที่เผาทิ้งออกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และลดการรั่วไหลของมีเทนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ รวมทั้งนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุนของ ปตท. 2.ควบคุมนอกเหนือจากธุรกิจ

สิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้วคือการปลูกป่า 1 ล้านไร่ การจัดทำโครงการร่วมกับชุมชนในหลาย ๆ โครงการ 3.การลงทุนในโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งจากกระบวนการผลิตของ ปตท. และที่อยู่ในอากาศ ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้”

“รวมไปถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างเดียว และการลงทุนใน EV ตรงนี้เราร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์ เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเพื่อผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

ละยังได้ร่วมบริษัทในกลุ่มติดตั้ง และเปิดให้บริการใช้งาน EV station สถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ตามจุดเดินทาง รวมถึงในอาคาร ห้างสรรพสินค้า คาดว่าน่าจะติดตั้งไป 100 จุด

และได้พัฒนาหัวชาร์จแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทำให้ชาร์จได้เร็วไม่เกิน 20 นาที รวมถึงแอปพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อตรวจสอบสถานะของสถานีชาร์จ หรือการจองชาร์จ ฯลฯ”

“บัณฑิต สะเพียรชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บีซีพีจีอยู่ในกลุ่มธุรกิจบางจากมีภารกิจหลักคือพัฒนาพลังงานสะอาดเท่านั้น ทั้งโซลาร์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ

เราเป็นธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังดูแลโลกด้วย เนื่องจากทุกที่ที่บริษัทเข้าไปพัฒนาโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม ฯลฯ

“ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนและสังคมด้วย อย่างเช่น ในประเทศไทย เรามีโครงกรโซลาร์สหกรณ์ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกมาร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท

โดยให้สหกรณ์มาลงทุนโรงไฟฟ้าร่วมกัน และแบ่งรายได้กลับคืนไป และแนวคิดของเราต้องการให้ผู้คนไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้ไฟแต่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย เป็นเจ้าของพลังงานที่ถูกลงและสะอาดด้วย

หรืออย่างที่โรงไฟฟ้าญี่ปุ่นได้พัฒนาให้เกษตรกรทำการเกษตรภายใต้แผงโซลาร์ฟาร์มของบริษัท ดังนั้น สิ่งที่ทำคือทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ

เพราะความท้าทายที่แท้จริงของการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน คือ mindset หรือวิธีคิด ข้อกำหนด และกฎระเบียบต่าง ๆ”

“การพัฒนาด้านเทคโนโลยีไปไกลมากเทคโนโลยีจึงไม่ใช่ความท้าทายที่แท้จริงอีกต่อไป แต่เป็นวิธีคิดหรือทัศนคติของเราต่างหากที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

โดยเห็นได้จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้ค่าใช้จ่ายพลังงานโซลาร์ลดลงเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน และจะส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงความคุ้มค่าของการใช้พลังงานโซลาร์มากขึ้น”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว